“ฝ่ายค้าน” ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู เสนอญัตติด่วนเข้าสภา 3 พ.ย.

“ฝ่ายค้าน” ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู เสนอญัตติด่วนเข้าสภา 3 พ.ย.

“ฝ่ายค้าน” เปิดเวทีถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู “ชลน่าน” เผยเตรียมเสนอญัตติด่วนถกในสภา 3 พ.ย. เผยสังคมควรหันมาใส่ใจสุขภาพจิต “สุทิน” ชี้เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซัดวัฒนธรรมเก็บส่วน-วิ่งวนขายยา เอาเงินเลื่อนตำแหน่งให้นาย “โรม” เสนอ 7 แนวทางปฏิรูปตำรวจ-ทหาร

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. มีการจัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียนเหตุการณ์หนองบัวลำภู” โดยมีตัวแทนจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วม ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายธงชาติ รัตนวิชา ที่ปรึกษาพรรคประชาชาติ ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อชาติ และนายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ นายทะเบียนพรรคพลังปวงชนไทย พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นพ.ชลน่าน กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำประเด็นเหตุการณ์การกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู เสนอเป็นญัตติด่วนหารือสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 พ.ย.นี้ โดยบทเรียนที่เราได้รับเป็นการลงทุนที่ไม่มีกำไร ถ้าเราไม่มีการพูดคุยกันจะยิ่งขาดทุน และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เหตุการณ์ครั้งนี้ในมุมของสภาพปัญหาเรารู้แล้ว แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือ แรงจูงใจเกิดขึ้นจากอะไร ทำไมตำรวจนอกราชการที่ถูกไล่ออก และไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ทั้งนี้ เรื่องที่ละเลยไม่ได้เลยคือปัญหาสุขภาพจิตใจในสังคมไทยปัจจุบัน ที่เกิดความบีบคั้น จนส่งผลถึงการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งทุกศาสนาสอนเรื่องนี้ เพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ในวันนี้เราจึงอยากให้ถกกันเรื่องจิตใจ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดี และเป็นทางออกให้กับสังคมไทยต่อไป

ส่วน นายสุทิน กล่าวว่า เหตการณ์ที่จ.หนองบัวลำภู เป็นเหตุการณ์ที่ปล่อยไปไม่ได้ เราจึงอยากจะเปิดประชุมสภา สมัยวิสมามัญ เพื่อบทเรียนที่จะถอด เรื่องนี้ไมใช่เรื่องบังเอิญ หรือเป็นอุบัติเหตุ แต่เกิดขึ้นโดยมีโครงสร้างอยู่แล้ว ทำให้อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ เพราะโครงสร้างยังมีอยู่ คือ 

1.เกิดจากคนเสียสติ ซึ่งตนให้น้ำหนักไปที่ยาเสพติด ทั้งนี้ คนติดยาจะระเบิดอารมณ์จาก 2 สาเหตุคือ เสพมากเกินไป และขาดยา โดยตนเชื่อว่าเหตุการณ์ที่จ.หนองบัวลำภู เกิดจากการขาดยา 

2.คนบ้าและคนมีอำนาจมีอาวุธในมือ ทำให้โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น เสริมแรงกระตุ้นด้วยความไม่เป็นธรรมจากระบบ 

3.ชุมชนหรือองค์กร ที่จะเป็นพื้นที่เข้าไประบายอารมณ์ 

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพื้นที่ต่าง ๆ มีศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนในชุมชนจำนวนมาก เหตุการณ์ จ.หนองบัวลำภู จึงเกิดองค์ประกอบครบ โดยปัจุบันมีคนแบบ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อยู่ในทุกหมู่บ้าน แค่ยังไม่ลงมือก่อเหตุเท่านั้นเอง นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่มีคุณภาพ เมื่อออกจากสถานบำบัดและกลับไปที่บ้านก็มีพฤติกรรมเหมือนเดิม และขู่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ตนที่เป็นส.ส.เขต ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนแบบนี้เสมอ เมื่อปืนหาง่าย และมีสถานศูนย์เด็กเล็กอยู่ในหมู่บ้าน ก็จะครบองค์ประกอบ และรอเวลาระเบิดเท่านั้น

นายสุทิน กล่าวอีกว่า องค์กรที่เกิดบ่อยที่สุดคือ องค์กรสีกากี องค์กรสีเขียว หรือตำรวจ และทหาร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งสององค์กรก็ยังไม่ได้แก้ไขปัญหา ส่วนวัฒนธรรมที่นายชอบให้ลูกน้องไปล่าเหยื่อไถเอาเงินมาให้เอาไปใช้ขึ้นตำแหน่งด้วยวิธีชั่วๆ เลี้ยงยาไว้ขายหลายรอบ เพื่อเอาเงินไปซื้อตำแหน่ง คนรับกรรมคือเด็ก และชาวบ้าน คนที่ควรผิด และถูกลงโทษคือคนที่ปล่อยให้ยาบ้าเต็มบ้านเต็มเมือง วันนี้รัฐบาลต้องไปจัดการโครงสร้างเหล่านี้ โดยเฉพาะยกเลิกการให้ถือครองอาวุธปืนไปเลย เพราะจากสถิติพบว่าไม่ได้นำปืนมาปกป้องตัวเอง แต่นำไปใช้ทำร้ายคนอื่น และฆ่าตัวตาย

ขณะที่นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตการณ์การกราดยิงเกิดจากปัญหา 4 อย่าง คือ

1.ประเทศไทยมีปืนเถื่อนที่หาซื้อได้ง่าย

2.ยาเสพติด ที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ทั้งที่ยาเสพติดผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน และมีตำรวจ และทหารชายแดนคอยเฝ้าอยู่ แต่เข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะมีการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานราชการ

3.สภาพแวดล้อมของหน่วยงานราชการ เช่น ตำรวจ ทหาร ต้องซื้อปืนเอง และซื้อเครื่องแบบเอง ทั้งที่เงินเดือนไม่ได้มาก นอกจากนี้ ยังมีการคอร์รัปชั่นภายใน การหักหัวคิว การเติบโตในหน้าที่การงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถ แต่ขึ้นอยู่กับตั๋วช้าง จนสร้างสถาวะกดดันขึ้นในจิตใจ เมื่อหาทางแก้ไม่ได้ ก็จบปัญหาด้วยปืน

4.การลอกเลียนแบบ โดยงานวิจัยสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า การกราดยิง คือการฆ่าตัวตายของผู้ก่อเหตุ โดยการฆ่าคนอื่นไปด้วยเป็นไปเพื่อสร้างเรียกร้องความสนใจจากสังคม ในต่างประเทศจึงเลี่ยงการนำเสนอชื่อผู้ก่อเหตุ โจทย์คือเราจึงต้องไม่ให้เกิดการเลียนแบบ

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหา 7 ข้อ คือ 

  1. การแก้ไขโครงสร้างรัฐที่บิดเบี้ยว ที่เจ้าหน้าที่ต้องวิ่งเข้าหาศูนย์กลางอำนาจ เกิดการวิ่งเก็บส่วยมาส่งให้นาย เพื่อให้เติบโตในหน้าที่การงาน 
  2. การดูแลสวัสดิการชั้นผู้น้อย 
  3. การควบคุมการครอบครองปืน 
  4. การตรวจสอบบุคลากรว่าเหตุใดจึงมีความเครียด 
  5. สร้างกลไกให้คนในองค์กรเข้าถึงการปรึกษานักจิตวิทยา และจิตแพทย์ 
  6. การจัดลำดับความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ใหม่ 
  7. แก้ไขการดำเนินคดีต่างๆ ที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน จนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม 

“ถ้าเราทำได้จะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ และทหารที่จะเป็นผลดีต่อสังคม และบุคลากรในระบบราชการ” นายรังสิมันต์ กล่าว

ส่วน น.ส.นภาพร กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นที่หนองบัวลำภูคงไม่ต่างจากเหตุกราดยิงที่โคราช ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ถูกบีบบังคับ ทำให้คลุ้มคลั่งมากกว่าปกติ และเมื่อบุคคลนั้นมีอาวุธปืนทำให้เกิดโศกนาฏกรรม เมื่อโยนเรื่องนี้ไปเป็นปัญหายาเสพติด และอาวุธปืน ตำรวจก็ตรวจค้น ตรวจจับกันมโหฬาร ไม่เว้นแม้แต่รมว.มหาดไทย ที่ขีดเส้นตายให้แต่ละจังหวัดส่งรายชื่อผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีทางแก้ปัญหาได้จริง เพราะเหมือนที่รัฐบาลที่เคยประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศภายในสิ้นปี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในกระดาษ แบบไฟไหม้ฟาง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เมื่อกระแสข่าวลดลง ปืนและปัญหาก็ยังอยู่ ซึ่งแก่นแท้ของปัญหาเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ใช่เฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ต้องมองถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาส และทางกระบวนการยุติธรรมด้วย