“ก้าวไกล” จ่อร้อง ป.ป.ช.-ฟ้องศาล ปค.เอาผิดบอร์ด กสทช.ปมควบ “ทรู-ดีแทค”

“ก้าวไกล” จ่อร้อง ป.ป.ช.-ฟ้องศาล ปค.เอาผิดบอร์ด กสทช.ปมควบ “ทรู-ดีแทค”

“ศิริกัญญา ก้าวไกล” รับผิดหวัง กสทช.ไม่ยอมทำตามอำนจตัวเอง ปมควบรวม “ทรู-ดีแทค” เผย “ก้าวไกล” ทัพหน้าร่วมภาคประชาชนยื่นคำร้อง ป.ป.ช. เอาผิด ม.157 บอร์ด กสทช.ทั้งคณะ หนุน “สภาผู้บริโภค” ฟ้องศาลปกครอง สร้างบรรทัดฐานควบรวมกิจการอื่น โดยไม่ต้องขออนุญาต

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2565 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ว่า เป็นไปตามที่คาดเดา แต่ยังคงผิดหวัง เพราะเราคาดหวังไว้ว่า กสทช.จะใช้อำนาจตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งหากสังเกตมติครั้งนี้ไม่ใช่การอนุญาตให้ควบรวมทรูดีแทค แต่เป็นการรับทราบ มีการโหวต 2 ครั้ง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ครั้งแรกเป็นการลงมติว่าสรุปแล้ว กสทช.มีอำนาจให้ควบรวมหรือไม่ สิ่งที่ลงมติออกมาเป็น 2 ต่อ 2 เสียง เป็นประเด็นว่าในการลงมติเรื่องนี้จำเป็นจะต้องได้เสียงข้างมากของคณะกรรมการทั้งหมด คืออย่างน้อยต้องได้ 3 เสียง แต่กรณีนี้เป็นการที่คะแนนเท่ากัน จึงต้องให้ประธานชี้ขาด จะใช้ในกรณีที่เป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ในกรณีนี้ ตามข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และเมื่อมาดูมติเสียงข้างมากบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะอนุญาต และใช้วิธีเพียงแค่การรับทราบผลการขอควบรวมธุรกิจ แสดงว่า กสทช.ตีความว่า ทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ค้านสายตาคนทั้งประเทศ และการที่ออกมาตรการ หรือเงื่อนไขภายหลังแบบนี้คิดว่าสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีสำหรับกฎหมายกำกับดูแลในประเทศนี้ ถ้าต่อไปเอไอเอสต้องการจะควบรวมกับ 3BB เขาจำเป็นต้องขออนุญาตหรือไม่ และในกรณีนี้จะนับว่าเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันอีกหรือไม่ ฉะนั้น คิดว่ามีปัญหาตั้งแต่กระบวนการโหวตและการตีความกฎหมายทั้งคู่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ผลที่ออกมาในส่วนที่เป็นเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องเชิงโครงสร้างและในเชิงพฤติกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกพอใจแล้วว่ามาตรการที่จะช่วยควบคุมราคา แต่ขอบอกว่าไม่มีการตัดสินของการอนุญาตควบรวมใดๆ ในโลกนี้ที่ให้รัฐเป็นผู้ควบคุมราคา เพราะทราบกันดีว่าในความเป็นจริงทำได้ยากมาก ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีที่สุดคือมาตรการในเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นการขายลูกค้าให้กับเจ้าอื่น หรือขายคลื่น หรือคืนคลื่นออกมาในส่วนที่มีถือครองคลื่นเกินจำนวนที่ กสทช.กำหนดไว้ หรือการใช้เสาสัญญาณร่วมในราคาที่เป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดคือทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ขึ้นเป็นเจ้าที่ 3 ซึ่งในกรณีนี้ต้องมีการกันคลื่นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะนำไปประมูลสัมปทานให้กับรายใหม่ได้ และอาจจำเป็นต้องให้แต้มต่อกับรายใหม่ให้ได้ราคาที่ถูกเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เพื่อดึงดูดให้มีรายที่ 3 เข้ามา

“ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขและมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะกู้คืนสภาพการแข่งขันที่เคยมีอยู่ 3 เจ้าได้เลย จึงเป็นที่มาของการคัดค้านการตัดสินใจของ กสทช.ในครั้งนี้ต่อไป เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองอย่างที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบฐาน กสทช. เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะยื่นฟ้องในนามของพรรคก้าวไกล โดยจะมีการรวมกลุ่มกับฝ่ายประชาสังคมด้วยเช่นกัน โดยเรื่องนี้จะขอเป็นเจ้าภาพ เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องเห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็ม เพื่อทำให้สำนวนคำร้องของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก่อน ยืนยันว่าต้องยื่นร้องสอบบอร์ด กสทช. 5 คน เพราะหากกรรมกาประพฤติมิชอบ หรือทำผิดขั้นตอนกระบวนการก็อาจทำให้การตัดสินครั้งนี้เป็นโมฆะไปได้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่สามารถมีบทบาทแทรกแซงเรื่องนี้ได้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย จนอดคิดไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟ้องจำเป็นต้องมีตัวแทนของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการฟ้องแล้ว พรรคก้าวไกลจะเป็นหน่วยสนับสนุนให้ดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น

เมื่อถามว่า ที่สังคมเริ่มตั้งคำถามว่าควรต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่และบทบาทของ กสทช. น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อาจต้องทบทวนไปถึงกฎหมายที่ว่าด้วยที่มาของ กสทช. มาจากกรรมการสรรหา และต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แต่ที่มาของวุฒิสภาตอนนี้เราก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องทำให้ กสทช.มีความรับผิดรับชอบกับประชาชน เพิ่มความยึดโยงมากขึ้น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อาจจะพิจารณาเพิ่มให้ ส.ส.เป็นผู้รับรองแทนวุฒิสภา หรือต้องรับรองทั้ง 2 สภาร่วมกันก็ได้ นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขตัวประกาศต่าง ๆ ที่ออกมาในภายหลัง รวมทั้งแก้ไขบทบาทของ กสทช.ที่ริบอำนาจของตัวเองที่จะอนุญาตในการควบรวมออกไป จำเป็นต้องทบทวนในส่วนนี้แน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอำนาจเต็มของ กสทช. จำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันของประชาชน เพื่อให้ กสทช.ตื่น และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยทำไว้ในอดีต

เมื่อถามถึงเงื่อนไขและมาตรการที่ กสทช.กำหนดออกมานั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จะมีหลายส่วนที่เอกชนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องของเอกชน ส่วนตัวมองว่ายังมีมาตรการที่เข้มข้นในบางเรื่อง เช่น การให้แยกแพคเกจระหว่างค่าโทรและค่ามือถือ เชื่อว่าภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในกรณีนี้ ซึ่งเราก็ต้องปล่อยให้เอกชนฟ้องร้องกันไป แม้จะมีเรื่องนี้ เมื่อรวมแพคเกจทั้งหมดก็ยังไม่สามารถคงสภาพการแข่งขันไว้ได้ ดังนั้น ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคอยู่ หรืออย่างบางมาตรการก็อาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่น การให้แยกแบรนด์ก่อนเป็นเวลา 3 ปีก่อนควบรวม เดี๋ยวค่อยให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีทางเลือก หลังบ้านก็มีความร่วมมือกันแล้ว สุดท้ายแล้วทางเลือกที่มีก็เหมือนไม่มี