ผ่าโครงสร้าง กู้เงิน "สวัสดิการ ทบ."ของแสลง "กองทัพ" อุดรอยรั่ว หักหัวคิว

ผ่าโครงสร้าง กู้เงิน "สวัสดิการ ทบ."ของแสลง "กองทัพ" อุดรอยรั่ว หักหัวคิว

การแสวงหาผลประโยชน์จาก "กำลังพล"ชั้นผู้น้อย ของทหารบางกลุ่ม ด้วยการหักหัวคิว เพื่อแลกกับ การ "เดินเรื่องไว -อนุมัติเร็ว -ลดขั้นตอนธุรการ "

คาดว่าประมาณต้นปี 2566 กิจการออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก (อทบ.) กรมสวัสดิการกองทัพบก จะเปิดให้กำลังพล ได้กู้เงิน 2 โครงการที่มีปัญหา ทั้ง อทบ.พิเศษ และ อทบ.เพื่อการเคหสงเคราะห์ ได้อีกครั้งหลังถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2564 สืบเนื่องจากเหตุ กราดยิงโคราช ปี 2563 ทำให้ "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. รื้อระบบใหม่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย

ด้วยการพัฒนาระบบบริหารกิจการ อทบ. ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการหน่วย และกำลังพลสามารถใช้งานบน Web และ Mobile Application ที่ออกแบบให้กำลังพลลงทะเบียนเข้าใช้งานและรับรหัสผ่านทางอีเมลล์  จึงส่งผลให้กำลังพลทำธุรกรรมกับกิจการ อทบ. ไม่ว่าจะเป็น เงินกู้ อทบ.,เงิน อทบ.เกิน ,ถอนดอกเบี้ยเงิน อทบ.ฝาก , และถอนเงิน อทบ.ฝาก จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีกำลังพลโดยตรง

สำหรับการกู้เงิน อทบ. ผู้กู้จะต้องมีเงินฝากที่เรียกว่า " เงิน อทบ.ฝาก" ตั้งแต่บรรจุรับราชการ แบ่งเป็นเงินฝากตามอัตราชั้นยศ

1.ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร เดือนละ 50 บาท 
2.ชั้นนายร้อย  เดือนละ 100 บาท
3.ชั้นนายพัน เดือนละ 200 บาท
4.ชั้นพันเอกพิเศษขึ้นไป  เดือนละ 300 บาท

ซึ่งของเดิม"ผู้กู้" จะได้รับเงินตามช่องทางที่แตกต่างกันไปตามลักษณ์ประเภทของการกู้ เช่น การกู้ "เงิน อทบ.บำบัดทุกข์"  ที่พึ่งแก้ระเบียบปรับปรุงการกู้ใหม่ เนื่องจากมีการระงับกู้เงิน อทบ.พิเศษ และ เงิน อทบ.เพื่อการเคหสงเคราะห์ ส่งผลให้ช่องทางกู้เงินของกำลังพลลดน้อยลง

กรณีกู้เงินวงเงินฝากไม่เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นไม่เกิน 100,000 บาท มีผู้ค้ำประกันสังกัดในหน่วยเดียวกัน 1 คน 

กรณีกู้เงินวงเงินฝากไม่เกิน 100,000 บาท ปรับเป็นไม่เกิน 200,000 บาท มีผู้ค้ำประกันสังกัดในหน่วยเดียวกัน 2 คน  

กรณีกู้เงินไม่เกิน 150,000 บาท แต่ไม่ถึง 300,000 บาท เลือกผ่อนชำระเป็นงวด ตามอายุของผู้กู้จนครบ

เมื่อ "ผู้กู้"ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆจนครบและได้รับการอนุมัติ กรมสวัสดิการทหารบก จะโอนเงินไปยัง "หน่วยต้นสังกัด"ของผู้กู้โดยตรง และให้หน่วยต้นสังกัดจ่ายเงินให้ผู้กู้ภายใน 3 วันทำการ ยกเว้นกรณี หน่วยต้นสังกัด ประสงค์จะให้กรมสวัสดิการทหารบก โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผู้กู้โดยตรง ก็ทำได้

 เงินกู้ อทบ.พิเศษ  (ที่ถูกระงับ) ซึ่งมี 2 ประเภท คือ 1ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ที่ดิน ให้วงเงินการกู้ ดังนี้ 

พลอาสาสมัคร-สิบเอก กู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท
จ่าสิบตรี-จ่าสิบเอก กู้ได้ไม่เกิน 250,000 บาท
ร้อยตรี-ร้อยเอก กู้ได้ไม่เกิน 400,000 บาท
พันตรี   กู้ได้ไม่เกิน 550,000 บาท
พันเอก กู้ได้ไม่เกิน 900,000 บาท

พันเอกพิเศษ กู้ได้ไม่เกิน 1,200,000 บาท

พลตรีขึ้นไป กู้ได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท

2.วางที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกัน 

พลอาสาสมัคร-จ่าสิบเอก กู้ได้ไม่เกิน 700,000 บาท
ร้อยตรี-ร้อยเอก กู้ได้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท

พันตรี กู้ได้ไม่เกิน 1,200,000 บาท

พันโท กู้ได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท

พันเอก กู้ได้ไม่เกิน 1,800,000ล้านบาท

พลตรี ขึ้นไปกู้ได้ไม่เกิน 2,000,000บาท

ผู้กู้ รับเงิน ที่กรมสวัสดิการทหารบก หรือ สำนักงานที่ดิน 

การกู้เงิน อทบ. เพื่อการเคหสงเคราะห์ (ที่ถูกระงับ) วงเงินกู้ 

พลอาสาสมัคร-จ่าสิบเอก กู้ได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท

ร้อยตรี-ร้อยเอก กู้ได้ไม่เกิน 2,000,000ล้านบาท

พันตรี-พันโท กู้ได้ไม่เกิน 3,000,000บาท

พันเอก ขึ้นไปกู้ได้ไม่เกิน 5,000,000บาท

แบ่งเป็น กู้เพื่อปลูกสร้าง  แบ่งจ่าย 3 งวด ตามงวดงานในอัตรา 2:1:1 ของยอดเงินที่อนุมัติให้กู้และเมื่อได้จดทะเบียนจำนองแล้วโดยจะจ่ายในแต่ละงวดตามงานก่อสร้างดังนี้

งวดที่ 1 จ่ายเมื่องานก่อสร้างเทคานคอดินและตั้งเสาแล้วเสร็จ

งวดที่ 2 จ่ายเมื่องานก่อสร้างตั้งวงกบประตูหน้าต่างงานพื้นงานผนังและงานหลังคาแล้วเสร็จ

งวดที่ 3 จ่ายเมื่องานก่อสร้างตามแบบระบบประปาไฟฟ้าแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่อาศัยรวมทั้งมีหลักฐานทะเบียนบ้านเรียบร้อย
การรับเงินกู้ให้รับได้ที่ "กรมสวัสดิการทหารบก"

หากเป็นกรณีซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดจะจ่ายให้ต่อเมื่อได้จดจำนองเรียบร้อยแล้ว "กรมสวัสดิการทหารบก" นำเงินไปจ่ายให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ขาย ที่ สำนักงานที่ดิน แต่กรณีที่มีผู้ซื้อหลายรายจากผู้ขายคนเดียวกัน ให้อยู่ในดุลพินิจของ "กรมสวัสดิการทหารบก" ที่จะพิจารณาจ่ายเงินให้ผู้ขายที่กรมสวัสดิการทหารบกก็ได้

ในปี 2566 ทั้งหมดนี้จะถูกดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น และโอนเงินทุกประเภทเข้าบัญชีผู้กู้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ที่เชื่อกันว่า จะสามารถอุดช่องโหว่ รอยรั่ว ทำเงินกำลังพลหล่นหายระหว่างทาง ก่อนจะถึงมือผู้รับ กับขั้นตอนการยื่นกู้ เงิน อทบ. ที่ซับซ้อน ยุ่งยากพอสมควร 

เช่น เงิน อทบ.บำบัดทุกข์   ผู้กู้ ต้องยื่นเรื่องกับต้นสังกัด และ ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นผู้บังคับกองร้อย หรือเทียบเท่าขึ้นไป ลงนามรับรองการลงลายมือชื่อผู้กู้ และ ผู้คำประกัน  และ ผู้บังคับหน่วยตั้งแต่ระดับกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทน พิจารณาอนุมัติการกู้ และลงนามในหนังสือสัญญาเงินกู้ อทบ. ไม่ต่างกับ เงินกู้ อทบ.พิเศษ และเงิน อทบ.เพื่อการเคหสงเคราะห์  

กับความต้องการใช้เงินของกำลังพลชั้นผู้น้อย แบบเร่งด่วน กลายเป็นช่องว่าง ให้กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการหักหัวคิว เพื่อแลกกับ  เดินเรื่องไว อนุมัติเร็ว ลดขั้นตอนธุรการ 

โดยเฉพาะ กู้เงิน อทบ.เพื่อการเคหสงเคราะห์  ที่ให้สิทธิกำลังพลชั้นผู้น้อยกู้ได้สูงสุด 1,500,000 บาท กับการฮั้วกันกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ กับ ผู้ประกอบการ รับสร้างบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท  เพื่อให้เหลือส่วนต่าง 500,000 บาท หักหัวคิว ก่อนส่งต่อให้ผู้กู้

จนเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า กำลังพล ชั้นผู้น้อยบางคน ไม่ได้สนใจตัวบ้าน แต่ต้องการเงินส่วนต่างเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเสียมากกว่า แม้จะต้องแลกกับการถูกหักหัวคิว โดนเอาเปรียบ ก็ต้องยอม

ดังนั้นไม่ว่าจะพัฒนาระบบการกู้ยืมเงิน อทบ.ให้ดีเพียงใด แต่หากกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ยังแฝงตัวอยู่ในกองทัพ ในรูปแบบทหารด้วยกัน ก็คงหาช่องทางดำเนินการจนได้ ในขณะที่ กำลังพล ก็ขาดซึ่งวินัยทางการเงิน จึงเป็นสองเรื่องที่ "กองทัพบก" ต้องแก้ไขควบคู่กันไป