"โฆษกสภาฯ" รับปัญหาน้ำรั่วซึมอาคาร เร่งปรึกษาวิศวกรผู้ออกแบบแก้ปัญหา

"โฆษกสภาฯ" รับปัญหาน้ำรั่วซึมอาคาร เร่งปรึกษาวิศวกรผู้ออกแบบแก้ปัญหา

"ว่าที่เรือตรียุทธนา" ยอมรับปัญหาน้ำรั่วซึมภายในพื้นที่รัฐสภาหลายจุด แต่แค่ระดับผิวเปลือกคอนกรีตหุ้มเสาเหล็ก เร่งแก้ปัญหา เชิญวิศวกรผู้ออกแบบร่วมวางแผนแก้ปัญหา

        ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่า พื้นที่จอดรถ ชั้น บีสอง มีตาน้ำผุด และน้ำซึมที่รอยแยกทั่วบริเวณลานจอดรถ นับ 100 จุด โดยพบว่า มีน้ำซึม น้ำไหลออกจากเสาตอม่อจำนวน 23 ต้น จนอาจเกิดการหักถล่มมีน้ำรั่วในอาคารรัฐสภาจนเกิดความเสียหายบริเวณต่าง ๆ โดยยอมรับว่าเสาที่มีน้ำซึมเป็นความเสียหายที่เกิดที่เปลือกผิวคอนกรีตหุ้มเสาเหล็ก หรือ เสาบิ้วท์อัพ  ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นเสากันแรงระเบิด สามารถดำเนินการซ่อมแซมได้ โดยการสกัดคอนกรีตหุ้มเสาออก อย่างไรก็ดีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า การตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ดำเนินการตามข้อกำหนดตามสัญญา และการตรวจรับงานจะอยู่ภายใต้คำแนะนำของที่ปรึกษาบริหารโครงการและการตรวจสอบของผู้ควบคุมงาน โดยคำนึงถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความคุ้มค่า และประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ

        ว่าที่เรือตรี ยุทธนา กล่าวด้วยว่าสำหรับการแก้ไขปัญหานั้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ประสานงานกับนายการุญ  จันทรางศุ ฐานะ วิศวกรโครงสร้างของบริษัทผู้ออกแบบ สงบ ๑๐๕๑ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการออกแบบอาคารสูง ร่วมกับทีมงานของบริษัทผู้ออกแบบ ผู้รับจ้าง ที่ปรึกษาบริหารโครงการ และผู้ควบคุมงาน พร้อมด้วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาสำรวจพื้นที่ที่มีรอยซึมน้ำ และได้วางแผนร่วมกันให้มีการสำรวจทางวิศวกรรมเพื่อตรวจหา และจัดทำแผนผังของรอยแตกร้าว โดยให้ใช้เครื่องสแกนพื้นเพื่อดูความลึก และความกว้างของรอยแตกร้าวว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้กำหนดวิธีการซ่อมแซมที่ถูกต้องต่อไป

        "การตรวจสอบตำแหน่งน้ำซึม แล้วจึงจัดการซ่อมแซม และทำคอนกรีตหุ้มกลับดังเดิม ดังนั้น กรณีเรื่องพื้นที่ที่มีน้ำซึม และเสาที่พบว่ามีน้ำซึมออกมานั้น ทางวิศวกรโครงสร้างฯ ได้รับรองว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้เร่งการดำเนินการให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันการรับมอบงานเป็นการตรวจรับปริมาณงานของผู้รับจ้างเท่านั้น ประกอบกับผู้รับจ้างยังมีข้อผูกพันตามสัญญากรณีที่พบความบกพร่องของงานก่อสร้างระยะเวลา 2 ปี ภายหลังการตรวจรับงานงวดสุดท้ายด้วย" ว่าที่เรือตรียุทธนา กล่าว.