แบะท่ารวมพรรค “ไทยสร้างไทย-สร้างอนาคตไทย” รับ สูตรหาร 100 เกิดยาก

แบะท่ารวมพรรค “ไทยสร้างไทย-สร้างอนาคตไทย” รับ สูตรหาร 100 เกิดยาก

“ศิธา” รับ กติกาเลือกตั้ง หาร100 พรรคเล็ก-พรรคใหม่ โอกาสได้ 25 ส.ส.น้อย ยากจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทำให้รวมกัน ชี้ ต้องคุยกันอีกเยอะ ถ้าปลาคนละน้ำ ก็ลำบาก แบะท่า “ไทยสร้างไทย-สร้างอนาคตไทย” รวมร่าง ถ้าจุดยืนตรงกัน ไม่หนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจ

น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวภายหลังร่วมวางพวงมาลาไว้อาลัย เนื่องในวันรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า ความสูญเสียในอดีตเป็นบทเรียนให้เราเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม และการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยของประชาชน วันนี้เราต้องคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ เพื่อให้ยุติความขัดแย้งและให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยเสียงของประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยกำลังเปิดให้มีการลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน โดย ส.ส.ร.

ทั้งนี้ น.ต.ศิธา กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งว่า หากการคำนวน ส.ส. ใช้สูตรหาร 100 โอกาสที่พรรคใหม่และพรรคเล็กจะได้ ส.ส. ถึง 25คน ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ชื่อที่เสนอเป็นแคนดิเดทนายกฯ มีผลตามกฏหมายได้ยากมาก ทำให้แต่ละพรรคต้องรวมกันถึงจะมีโอกาสมากขึ้น แต่การรวมกันต้องพูดคุยกันอีกเยอะ ยังไม่คืบหน้าเท่ากับที่สื่อมวลชนคาดการณ์ เพราะหากเป็นปลาคนละน้ำก็รวมกันลำบาก

เมื่อถามว่า พรรคไทยสร้างไทยกับพรรคสร้างอนาคตไทยจะรวมกันได้หรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็เคยทำงานร่วมกันมา สมัยพรรคไทยรักไทย คุณหญิงสุดารัตน์ดูแลด้านสาธารณสุข สังคม และยาเสพติด นายสมคิด ดูแลด้านเศรษฐกิจ และร.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ดูแลด้านกฎหมาย แต่นายสมคิดเองก็เคยเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  มาก่อน จึงต้องดูว่าที่แยกตัวออกมาจากรัฐบาล เป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ไม่ตรงกัน หากเป็นเพราะอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะรวมกันได้ เพราะพรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการอยู่แล้ว หากจุดยืนตรงกันก็สามารถคุยกันได้ และการพูดคุยจะไม่ทำอย่างลับๆ ล่อๆ แน่นอน

น.ต.ศิธา กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่า ตอนที่คุณหญิงสุดารัตน์ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็มีนักการเมืองหลายคนที่เคยย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เพราะถูกเอาคดีความหรือการฟ้องน้องมาเป็นชนักติดหลัง แต่ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้นหากจะรวมกันก็ต้องชัดเจนทั้งสองฝ่าย