เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

ทุกวันนี้ โรคระบาดในไทยที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าโควิด-19 ก็คือ โรคเบื่อการเมือง ก็จะไม่ให้เบื่อได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตประจำวันของคนไทยต้องทุกข์ทนอยู่กับพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของนักการเมือง

“เมืองไทยเรานี้แสนดีเหลือหลาย นักการเมืองไทยทำได้ทุกอย่าง

โชว์วาทะกรรมล้วนแต่ล้ำลึก ถนัดก่อศึกสร้างความบาดหมาง

ยกเว้นหน้าที่ไม่มีใครรู้ แต่ประโยชน์ของกูรู้กันกระจ่าง

บ้างเอาการเมืองมาเป็นเรื่องครอบครัว ผู้คนรู้กันทั่วอย่ามัวแอบอ้าง

ชาติจะฉิบหายอย่างไรช่างมัน ประเทศของฉันด่ากันนัวเนีย”….

นักการเมืองบ้างโชว์วาทะกรรมที่ตื้นเขิน อคติ ไร้วุฒิภาวะและไร้จิตสำนึกที่ดีต่อชาติบ้านเมือง มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมทั้งการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ …ทำให้คิดไปว่า คนเหล่านี้คือ “ผู้แทนฯ หรือ ผู้ถ่วง” กันแน่ถ้าเราไม่มีพวกเขาประเทศชาติคงจะเจริญกว่านี้ไปนานแล้ว

รู้ปัญหาแต่ไม่มีปัญญาแก้ไข….

-ขณะที่เราจะให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย แต่เราก็ไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของนักการเมือง

-ขณะที่เรารู้ว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมและปูมหลังที่ไม่เหมาะสมคือตัวปัญหา แต่คนเหล่านั้นก็ยังคงได้รับโอกาสเข้ามาสู่ระบบเลือกตั้ง

-ขณะที่เรารู้ว่านักการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้าสภาฯมาได้ด้วยการซื้อเสียง แต่เราก็ไม่สามารถใช้กฎหมายสกัดกั้นคนเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-ขณะที่การเมืองไทยด้อยคุณภาพ แต่เราก็ยังคงฝากประเทศชาติไว้ในเงื้อมมือนักการเมือง

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

ความตกต่ำเลวร้ายทางการเมือง นอกจากจะไม่สร้างความอบอุ่นใจให้แก่คนในชาติแล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญในการสร้างความแตกแยกของคนในชาติและสิ่งเลวร้ายทั้งปวง จนได้กลายเป็นวัฒนธรรมของการเมืองยุคใหม่ของไทยไปแล้วนั่นคือ  “การเมืองไทยต้องเลือกข้าง”… “การเมืองไทยต้องได้ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ”… และ ”การเมืองไทยจะเป็นประชาธิปไตยเมื่อได้ผลประโยชน์”….

“อันว่าประชาธิปไตยตามใจฉัน ถ้าไม่ได้สิ่งต้องการฉันก็ด่า

ความถูกต้องใดๆไม่นำพา ประชาธิปไตยของข้าคืออะไรที่ถูกใจกู”…..

 ท่ามกลางความเบื่อหน่ายการเมือง จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วเราจะทนกันต่อไปได้อีกนานแค่ไหน….

จริงอยู่ท่ามกลางนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ ก็ยังคงมีนักการเมืองน้ำดีอยู่(บ้าง) แต่ถ้าสภาพวัฒนธรรมการเมืองไทยยังคงเป็นไปเช่นนี้ นักการเมืองน้ำดีก็นับวันจะสูญหายไปจากสภาฯ…และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน คำว่า “นักการเมือง” ที่ได้กล่าวถึงและที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไป ไม่เหมารวมไปถึงนักการเมืองที่ดี….

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้

จากสภาพการเมืองปัจจุบัน คิดว่าคนไทยบางส่วนคงมีแนวทางที่จะอยู่กับมันให้ได้กันบ้างแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีจะขออนุญาตแนะนำให้ท่านเลือกแนวทางปฎิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้…

1.ไม่ใส่ใจ

วิธีการคือไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น เหมาะกับท่านที่มีนิสัยส่วนตัวเป็นคนขี้รำคาญ หรือมีภาระงานมากจนไม่มีเวลาสนใจการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่ถ้าเป็นคนส่วนใหญ่ จะเข้าทางนักการเมืองทันที

อย่างไรก็ตามก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะเลือกดำเนินชีวิตคามแนวทางของตน แต่วิธีการนี้จะให้ฟังดูดี ขอแนะนำให้ใช้คำว่า “ปล่อยวาง” อะไรมันจะเกิดก็ให้มันเกิด ประเทศชาติไม่ใช่ของเราคนเดียว..

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

การปล่อยวางจะเป็นหนทางที่ทำให้หลุดพ้นจากเรื่องกวนใจทั้งปวง โดยไม่เก็บสิ่งที่ไม่ดีมาเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีผ่านเข้ามาในหัวใจของเรา เลิกติดตามข่าวสารการเมือง เลิกพูดคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว และกับเพื่อนฝูง….

“สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ ไม่สุกใส ถ้าไม่ถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ อยากอยู่ให้เป็นสุขหรือทุกข์นาน”….

แต่ถ้าผลแห่งการปล่อยวางของคนไทยทำให้ประเทศชาติของเราเสียหาย แล้วเราจะยังมีความสุขอยู่ได้อย่างไรกัน

2.ทนมันให้ได

 ท่านที่อยู่ในกลุ่มนี้จะไม่ยอมปล่อยวาง แต่จะคอยดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งน่าเป็นนิสัยของคนส่วนใหญ่ของสังคมที่เรียกว่า พลังเงียบ..การที่จะอดทนกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองได้นั้น จึงถือว่าเป็นบททดสอบความอดทน และ ฝึกความรับผิดชอบ เพราะในเมื่อเราเป็นคนเลือกพวกเขาเข้าสภาฯ เราก็ต้องรับผิดชอบก้มหน้ารับกรรมและทนมันให้ได้

เช่นเมื่อได้พบเห็นการโชว์วาทะกรรมที่โกหก หลอกลวง ไร้สาระของคนพวกนี้ก็ให้คิดเสียว่า เรากำลังรับชมการแสดงมายากลหรือรายการตลกเพื่อการผ่อนคลาย…เมื่อได้พบเห็นพฤติกรรมต่ำสถุน ก็ให้คิดเสียว่าเรากำลังพบคนด้อยโอกาส ขาดการอบรมเลี้ยงดูที่ดีมาตั้งแต่ต้น…

โดยสรุปคือ ไม่ปล่อยให้พฤติกรรมที่ไม่ดีมาทำร้ายจิตใจเรา โดยรักษาสุขภาพจิตของเราให้มีความคงเส้นคงวา สามารถปรับตัวให้มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่จะอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ความอดทนของคนไทยก็มีข้อจำกัด

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

3.ช่วยกันแก้ไข

วิธีการนี้เหมาะสำหรับคนไทยที่มีหัวใจรักชาติแบบไม่ยอมสิ้นหวัง ไม่ยอมหนีปัญหา โดยชอบทำอะไรให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของผู้นำแบบหนึ่ง….ถ้ามีคนกลุ่มนี้มากเท่าไรการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น…

สภาพประเทศชาติช่วงนี้ ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ ภาวะเช่นนี้ได้ครอบงำคนไทยให้ด้อยคุณภาพตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพความคิดและจิตสำนึกต่อการทำความดีและต่อประเทศชาติ วิถีชีวิตของคนไทยถูกแบ่งฝ่ายเป็นอริกัน การเพิกเฉย ขลาด ไม่กล้าต่อต้านสิ่งชั่วร้ายจากฝีมือนักการเมือง

ความจำเป็นของคนไทยที่จะต้องร่วมมือกันปลดแอกการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง เราต้องไม่ให้ประเทศไทยถูกนำทางไปในทางที่ตกต่ำมากกว่านี้เราต้องไม่ให้นักการเมืองมาครอบงำเรา แต่เราต้องเป็นฝ่ายควบคุม(Control)นักการเมือง ฟังดูเหมือนเพ้อฝันยากที่จะทำได้…

แน่นอนลำพังคนไทยเพียงไม่กี่คนยากที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักทำหน้าที่ร่วมกัน โอกาสที่จะกดดันนักการเมืองนอกรีตให้มีพฤติกรรมอยู่ในกรอบย่อมมีความเป็นไปได้ เช่น….

-การไม่เลือกคนเลวเข้าสภา ไม่เห็นแก่ได้ อย่าให้ใครซื้อเสียง (ประโยคพื้นๆเหล่านี้ พูดกันมานาน แต่ไม่มีใครทำให้เป็นจริง)

-เรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง และตรวจสอบจากสังคมให้มากขึ้น

-สร้างกระแสสังคมที่ไม่ยกย่องนักการเมืองชั่ว ไม่ให้ราคาแก่นักการเมืองที่ไม่ดี (ประโยคเหล่านี้ก็เช่นกัน พูดกันบ่อยมาก)

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

-สร้างกระแสสังคมที่ส่งเสริม ปกป้องคนดี และมีความภูมิใจในชาติ(ฟังดูดี พูดกันบ่อยมาก)

-จงแสดงความกล้า ต่อต้าน คัดค้านการกระทำและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง…เพราะ “นักการเมืองไม่ดีจะได้ใจ ถ้าคนไทยไม่กล้า”…

-การสร้างจุดเริ่มต้นหรือการนำ(จากคนกลุ่มที่3)ให้เหมาะสม (เพื่อให้จุดติด)

-การดึงพลังเงียบ(คนกลุ่มที่2) ที่คอยดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้ออกมาสนับสนุน

จะเห็นว่าแทบทุกข้อที่ยกมา ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรม ไม่ง่ายนักที่จะปฏิบัติ รวมทั้งมีอุปสรรคสำคัญอยู่หลายประการ เช่น…วัฒนธรรมการไทยได้กลายเป็น วัฒนธรรมเลือกข้าง แบ่งฝ่ายไปนานแล้ว ยากที่จะกลับมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

การขาดผู้มีบารมี หรือ ผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย การขาดจุดเริ่มต้นที่เหมาะสม การขาดบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ผู้ขัดแย้งคนสำคัญยังขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ  และความขัดแย้งของคนในชาติ ยังเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

ก็คงได้แต่แอบหวังว่าสักวันหนึ่ง คนไทย (รวมทั้งผู้ขัดแย้ง) คงจะมีสติ มีจิตสำนึก และมีความกล้าที่จะช่วยกันกระทำความดีเพื่อชาติโดยพร้อมกัน

บทสรุปประเทศไทย

จากสภาพความเป็นจริง ปัจจุบันเราจึงไม่ควรฝากประเทศชาติไว้กับนักการเมือง แต่ควรช่วยกันสอดส่องดูแล ตรวจสอบ และพัฒนานักการเมืองให้ยกระดับมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป

 หลายอาชีพที่เกี่ยวข้องชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงของสังคม เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ต่างต้องผ่านการฝึกอบรม คัดกรองให้มีมาตรฐานแห่งวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานจริยธรรมเป็นตัวกำกับการประกอบวิชาชีพ

แต่นักการเมืองไทยทั้งๆที่มีกฎหมายด้านจริยธรรมของนักการเมืองเป็นตัวกำกับ ยังไม่ทำตัวให้เหมาะสมกับที่ได้รับการไว้วางใจจากประชาชน โดยเฉพาะควรต้องมีระดับคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป

แต่พฤติกรรมที่น่ารังเกียจของนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ปรากฎต่อสายตาสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนถึงการขาดความความใส่ใจของนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง

จึงดูเสมือนว่า เพียงพวกเขาถูกเลือกตั้ง และ/หรือ กกต.จับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็เป็นอันเข้าสภาฯได้เป็นผู้ทรงเกียรติโดยสมบูรณ์ ไม่มีการฝึกอบรมมาตรฐานวิชาชีพของนักการเมืองทั้งด้านความรู้ความสามารถและความประพฤติที่ดี

ดังนั้นแทนที่เราจะพบเห็น การกระทำความดี ละเว้นความชั่ว  กลับกลายเป็น..กระทำความชั่ว ละเว้นความดี… ท่านผู้รู้หลายท่านกล่าวว่า ถ้ามีการเข้มงวดด้านจริยธรรมของนักการเมืองกันจริงๆ นักการเมืองจะหายไปเกือบค่อนสภาฯ….หรือเพราะการเมืองเป็นแค่กิจกรรม “เล่นๆยามว่าง”…ที่นิยมเรียกกันว่า..”เล่นการเมือง”…

นักการเมืองคือคนกลุ่มน้อยของประเทศที่เราละเลยปล่อยให้พวกเขาเหลิงอำนาจ จนสำคัญผิดคิดว่าพวกเขาคือเจ้าของประเทศ ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็สำคัญผิด คิดว่าไม่มีอำนาจจะไปยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพวกเขาได้….

 การแก้ไขปัญหาความตกต่ำของการเมืองไทยต้องแก้ไขไปให้ถึงรากเหง้าของปัญหาด้วยน้ำมือของคนไทยด้วยกันเอง เพราะประเทศไทยเป็นของเราทุกคน ถ้าเราอยากเห็นประเทศชาติเราเป็นแบบใด เราก็ต้องช่วยกันสร้างให้เป็นแบบนั้น

 การแก้ปัญหามันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง หรือโชคช่วย แต่จะต้องเกิดจากการกระทำร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ

 ดังนั้นถ้าฝันที่อยากจะเห็น บ้านเมืองเป็นสุข การเมืองสวย อุดมด้วยคุณธรรม ก็อย่าไปหวังว่าจะมีโชคหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆมาช่วย เพราะสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่สุดที่จะช่วยประเทศชาติเราได้ ก็คือคนไทยทุกคน

คนไทยต้องกล้าแสดงจุดยืน ต่อต้าน คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะ“ตราบใดที่คนไทยไม่กล้า อย่าถามหาการเมืองที่ดี”…..

เราจะอยู่กันอย่างไรกับการเมืองไทยยุคนี้ | นพ.ชำนาญ ภู่เอี่ยม

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

นายแพทย์ ชำนาญ ภู่เอี่ยม
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล