ย้อนรอย 46 ปี “6 ตุลาฯ มหาวิปโยค” โศกนาฏกรรมการเมืองไทย

ย้อนรอย 46 ปี “6 ตุลาฯ มหาวิปโยค” โศกนาฏกรรมการเมืองไทย

ครบรอบ 46 ปีเหตุการณ์ความรุนแรงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 บันทึกการต่อสู้ขบวนการนิสิตนักศึกษา ต่อต้านระบอบเผด็จการ

วันนี้เมื่อ 46 ปี ที่แล้วบริเวณท้องสนามหลวง พื้นที่โดยรอบและภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปรสภาพกลายเป็นทุ่งสังหารเพียงแค่ชั่วข้ามคืน หลังจากฝ่ายความมั่นคงใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนทำให้หลายคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “สังหารหมู่ธรรมศาสตร์”

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีหลังยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุด แต่ในปี 2519 มีการเดินขบวนของนักศึกษาและชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลัง “บวชเป็นสามเณร” มาจากประเทศสิงคโปร์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

หากย้อนรอยชนวนเหตุวิปโยค 6 ตุลาฯ 2519 เริ่มขึ้นตั้งแต่ 7 ก.ย.2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตรมีการอภิปรายในหัวข้อ "ทำไมจอมพลถนอม จะกลับมา" ซึ่งผู้อภิปรายหลายคนเชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขสร้างความไม่สงบขึ้นภายในประเทศชาติ

  • 24 ก.ย.2519 นายวิชัย เกตุศรีพงษร และ นายชุมพร ทุมไมย นายช่างตรีสังกัดการไฟฟ้า เขตนครปฐม ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายก่อนศพไปแขวนคอไว้หน้า "ประตูแดง" ซึ่งเป็นประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง ภายหลังทั้งสองติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ "พระถนอม"
  • 28 ก.ย.2519 มีการชุมนุมใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้คนร่วมประมาณหมื่นกว่าคน ทั้งนิสิต นักศึกษา และคนทั่วไป
  • 3 ต.ค.2519 มีการย้ายไปชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 5 ต.ค.2519 ในช่วงหัวค่ำแกนนำตัดสินใจว่าจะยุติการชุมนุมในวันที่ 6 ต.ค. แต่จะไม่สลายการชุมนุมเวลากลางคืนเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

6 ต.ค.2519 วันมหาวิปโยค

ช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ต.ค.2519 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและประชาชนฝ่ายขวามาล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 8,000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณตี 3 โดยมีนักศึกษาอยู่ในภายในรั้วมหาวิทยาลัยประมาณ 4,000 คน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยช่วงประมาณ 05.30 น. ทำให้มีทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บ 13 คนทันที

จากนั้นมีการจับกุมนักศึกษาเพื่อสลายการชุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตตามที่รัฐบาลรายงาน 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน ส่วนนักศึกษาและประชาชน 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น ก่อนถูกกระจายตัวไปคุมขังในเรือนจำทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล

ถึงแม้ปัจจุบันเรื่องราวจะผ่านมาแล้ว 46 ปี ยังมีหลายข้อมูลได้บันทึกถึงการสูญเสียทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่มีน้อยคนที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริงของเรื่องราวทั้งหมด เพราะเป็นข้อมูลที่เข้าถึงยากและไม่ได้เปิดเผยในที่สาธารณะ รวมถึงยังมีผู้มีอำนาจหลายรัฐบาลที่ผ่านมาอยากให้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้เลือนหายไป

แต่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้พยายามจะหาช่องทางถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมการเมืองไทยต้องจางหายไป