“ธิดา” เล่าหลังฉากม็อบปี 53 รัฐบาลไม่ลงนาม ICC รับตอนนี้ นปช.หมดพาวเวอร์

“ธิดา” เล่าหลังฉากม็อบปี 53 รัฐบาลไม่ลงนาม ICC รับตอนนี้ นปช.หมดพาวเวอร์

“ธิดา ถาวรเศรษฐ” เล่าหลังฉากเหตุการณ์ม็อบปี 53 เหตุผลดีลรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ไม่ลงนาม ICC ยอมรับปัจจุบันไม่มีองค์กรนำอย่าง นปช.แล้ว แกนนำกระจายคนละทิศทาง

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการร่วมเสวนา “ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง” ในนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ 6 October: Facing Demons” จัดโดย Common School เครือข่ายคณะก้าวหน้า ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่เราต้องไปร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)มันไม่ใช่เป็นเพราะคนเสื้อแดงตาย มันไม่ใช่เพราะกรณีชุมนุมเสื้อแดงปี 53 แต่ประเทศไทยถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ใช่ไปเรียกร้องเฉพาะกรณีปี 2553 เพราะเรารู้ว่าเมื่อเทียบกับกรณีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก การตายของเราจำนวนประมาณ 90 กว่าศพ คือทางเราทำเอาไว้ 94 ศพ แต่เราไปหาข้อมูล คนที่เราแน่ใจว่าเกี่ยวข้องแต่เสียชีวิตทีหลังอีก 5 ศพ ก็เป็น 99 ศพ เพราะฉะนั้นเราก็มีส่วนข้อมูลของเราอยู่จำนวนหนึ่ง (นอกเหนือจากที่ ศปช.ทำไว้)

นางธิดา ระบุว่า แต่ การมาวันนี้และการที่มี ศปช.ได้ทำ ต้องขอขอบพระคุณแทนพี่น้องประชาชนเสื้อแดงและคนไทยทั้งหมด ขอบคุณมาก เพราะว่ามีคนตั้งคำถามว่าทำไม นปช.ไม่ทำศูนย์ข้อมูล คำถามว่า นปช.ทำแล้วมีใครเชื่อ พูดอะไรออกไป เห็นหน้าบางทีก็ยังไม่อยากมอง พวกนี้ควายแดง ไอ้พวกนี้ลูกน้องทักษิณ อะไรประมาณนั้น เพราะฉะนั้นการที่มีคนนอกและนักวิชาการที่น่าเชื่อถือมาทำ และรวมกระทั่งทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น การเขียนหนังสือหรืออย่าง “ฟ้าเดียวกัน” ที่ได้ทำ ถือว่าเป็นคุณูปการต่อการต่อสู้ของประชาชน เพราะว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นมวลชนพื้นฐาน ดังนั้นเสียงก็ไม่ดังเท่าปัญญาชน แต่ก็ภาคภูมิใจว่าในประวัติศาสตร์การต่อสู้ นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นทั้งกองหน้าและกองกำลังหลักคือมวลชนพื้นฐาน ไม่ใช่ปัญญาชน กระทั่งแกนนำ จะว่าไปก็ไม่ใช่ปัญญาชนทั้งหมด มีบางส่วนเท่านั้น

นางธิดา ระบุอีกว่า เราและคณะเดินทางไป ICC เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ทำไมเราต้องไป ICC เราไม่ได้ร้องทุกข์เฉพาะกรณีปี 2553 เราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณฆ่า แล้วคุณก็ลอยนวลพ้นผิด นิรโทษกรรม คนทำก็ย่ามใจ นี่ก็แค่ไม่กี่วันก็ยังลือกันว่าอาจจะทำรัฐประหารก็ได้ ทำแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ที่เขียนมาแล้ว 8 ปี อาจจะแก้ใหม่ ไม่ต้อง 8 ปีก็ได้ เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะได้อยู่ต่อยาวต่อไปอีกก็ได้ไม่ใช่แค่ 2568 นี่ยกตัวอย่าง แล้วก็มีประท้วง การจัดการปราบปรามประชาชนก็อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนเกิดขึ้นกับ 6 ตุลาฯ ซึ่งพวกเราได้ดูแล้วว่ามันโหดเหี้ยมมาก มันไม่น่าเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ลอยนวลพ้นผิด ปี 2553 ก็เช่นกัน

“เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ไป ไป ICC เพื่อให้ประเทศไทยไม่ควรจะเกิดแบบนี้อีก นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันพูดคล้าย ๆ กับ อ.ธงชัย ก็คือจดหมายของอ.ธงชัยสะเทือนใจมาก ทั้งอ้อนวอนและขอร้องว่าขอให้ ICC อย่ามองแค่จำนวน เขาตายกันเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน ของเราประมาณร้อย เขาอาจจะมองไม่เห็น แต่เราก็พูดกันว่าการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเป็นการกระทำไม่ใช่แต่เพียงคนที่ตายไป แต่มันกระทำต่อประชาชนที่ยังมีชีวิตอยู่และในอนาคต และประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น เราไปวิงวอนและขอร้อง ดิฉันสะเทือนใจมากที่อ่านจดหมายของอ.ธงชัยทุกครั้ง แต่ใจความคล้ายกันกับที่เราขอร้อง” นางธิดา ระบุ

แกนนำ นปช.ระบุว่า สรุปก็คือ เราไปเพื่อประเทศเรา เพื่ออนาคต แล้วเราไปร้องเรียน บอกได้เลยว่าตนเป็นประธาน นปช.เมื่อ 1 ธ.ค. 2553 จนกระทั่ง มี.ค. 2556 โดยในวันที่ 30 ธ.ค. 2553 จดหมายก็ไปถึง ICC แล้ว รอบแรกขอให้เขามาสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพราะเราเชื่อว่าการเสียชีวิตและการจับกุมคุมขังคน เรียกว่าหลายพันคน 5-6 พันคน ตอนต้องประกันตัว 4 พัน แล้วที่ตายไป และบาดเจ็บก็ประมาณ 2 พัน มันเป็นงานใหญ่มาก เราไม่มีศูนย์ทนายแบบนี้ ไม่มีกองทุนราษฎรประสงค์แบบที่ทำกับกลุ่มราษฎร ก็ต้องชื่นชมว่าทำได้ดี ตอนนั้นลำบากมาก 

อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องร้องทุกข์ เพราะประเทศไทยจะอยู่อย่างนี้อีกไม่ได้แล้ว ที่ตายก็ตายไปแล้ว แต่เราไม่ต้องการให้ตายต่อไปอีกข้างหน้า ดังนั้นเราก็เริ่มตั้งแต่ปี 2553 แล้วก็ต้องขอบคุณทนายอัมสเตอร์ดัม ทำจดหมายเป็นระยะ ๆ จดหมายของอัมสเตอร์ดัมนั้นบรรยายมาตราต่าง ๆ ของธรรมนูญกรุงโรมตั้งแต่มาตรา 10 กว่า ไปจนถึงมาตรา 20 กว่า บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าสมควรที่อัยการจะมารับเรื่องที่เราไปร้องทุกข์ แล้วเมื่อเขาเห็นว่าสมควร มันก็เป็นแบบที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในข้อ 3 คืออัยการรับเรื่อง ผลที่เกิดขึ้นคือจากการที่เราไป แล้วก็จดหมาย มีเอกสารร้องทุกข์มาเป็นลำดับ และเขาได้รับเรื่องเอาไว้จริง แล้วพิจารณาแล้วว่ามันน่าจะสมควรรับเรื่อง

นางธิดา ระบุว่า ดังนั้นต่อมาในวันที่ 1 พ.ย. 2555 คุณ Fatou Bensouda อัยการ ICC ก็มาคุยกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ผลมันก็คืออัยการได้มาคุย โชคดีที่เขามีประชุมด้วย คือคุณ Bensouda กรุณาอธิบายให้นายสุรพงษ์มีความรู้ทั้งหมดว่าคุณทำแบบนี้นะ คุณใช้มาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรมนะ คุณไม่ต้องให้สัตยาบันนะ คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าประมุขของคุณจะโดนเล่นงานนะ ไม่เกี่ยวเลย เอาเฉพาะกรณีนี้ แค่เปิดประตูให้ ICC มา เพื่อจะมาหาหลักฐานรวบรวม ศาลคุณก็ทำไปซิ เพราะว่า ICC เป็นศาลเสริม ไม่ใช่ว่าจะมาทำให้ศาลไทยหมดอำนาจ แต่ถ้าศาลไทยไม่ประสงค์จะทำ หรือว่าทำแล้วมีปัญหามากเขาก็จะเป็นส่วนเสริมที่ทำงานต่อไป ที่สำคัญคือเขามาให้ความรู้ว่าคุณไม่ต้องไปกลัวเรื่องอื่นทั้งหมดเลย เอาเฉพาะกรณีนี้ก็ได้ 

แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีสับสน เพราะว่าคิดว่าต้องให้สัตยาบันหรือเปล่า เพราะว่ามีความกลัวเรื่อง ICC กันมาก  เพราะฉะนั้นปัญหาสำคัญของเราตรงนี้ก็คือต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า ในประเทศของเราที่มีปัญหามากในเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งมีสองวรรค วรรคแรกว่าจะละเมิดไม่ได้ วรรคที่สองก็คือมาเติมเอาในรัฐธรรมนูญปี 2492 นะ จะฟ้องร้องไม่ได้ด้วยวิธีใด ๆ ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญปี 2475 ก็ไม่มี แล้วก็มามีอีกทีในรัฐธรรมนูญปี 2521 มาจนถึงบัดนี้ นี่คือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 6 ปัจจุบัน มันไม่ได้มีตั้งแต่ตอนต้น มันเพิ่งมี

“ที่เขากลัวมากก็คือพอพูด ICC คือกลัวการให้สัตยาบัน แล้วอ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ก็คือใครจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ คือนอกจากจะละเมิดมิได้แล้วก็วรรคสองด้วย เขามีการตั้งกรรมการเท่าที่ดิฉันจำได้ก็คือ ทางรมต.บอกว่ามีคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการต้องไปพิจารณา แต่สำหรับดิฉันคือเราเป็นนักต่อสู้ประชาชน เราไม่คิดอย่างเขา เมื่อมันควรจะทำมันก็ต้องทำ แล้วเราก็ต้องรับผิดชอบการกระทำนั้นได้ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ามันเฉพาะกรณีนี้ ทำไมไม่ทำ! นี่เป็นความคิดของดิฉัน” นางธิดา ระบุ

นางธิดา ระบุด้วยว่า นายสุรพงษ์ แม้กระทั่งวันใกล้วันทำรัฐประหาร นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย โทรไปหา ขอร้องว่านี่อีกไม่กี่วันเขาทำรัฐประหารแน่นอน คุณช่วยกรุณาได้มั้ย เซ็นรับรองเขตอำนาจศาล ICC เฉพาะกรณีปี 2553 ซะหน่อย คำตอบก็ไม่มี แต่ตามความคิดของดิฉันก็คือ เขาเกรงมาตรา 6 ว่าข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม จะไปมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นี่มองในด้านบวกแล้วนะ ก็คือว่าเขาไม่รู้ว่า ถ้าใช้มาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม มันก็ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวกับประมุขเลย แล้วในนี้ระบุเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะ ICC เขาจะเล่นงานบุคคล ไม่ใช่เล่นงานรัฐ 

นอกจากเล่นงานบุคคลแล้ว บุคคลที่ถูกเล่นงานมันจะต้องอยู่ในรัฐภาคี ปรากฏว่าทนายอัมสเตอร์ดัมไปรู้มาว่านายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ แล้วไม่ได้ถอนสัญชาติอังกฤษ ดังนั้นการฟ้องคุณอภิสิทธิ์จึงฟ้องได้ นี่ไม่ใช่อยู่ ๆ เราไปรับรองเขตอำนาจศาลแล้วจะไปฟ้องใครได้นะ จะฟ้องนายสุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์) ก็ยังไม่ได้ เพราะนายสุเทพไม่ใช่คนอังกฤษ มันมีรายละเอียดของมัน ดังนั้น กรณีนี้เราทำการบ้านกันมาจนหมดแล้วว่าฟ้องนายอภิสิทธิ์ได้  นอกจากนั้นก็เป็นศาลเสริม คือคุณ Bensouda เขาก็บอกว่าเปิดประตูขอให้ได้นับหนึ่ง มันยังใช้เวลาอีกนาน แล้วถ้ามีกฎหมายอะไรที่ไม่สอดคล้อง มันยังมีเวลาอีกนานที่จัดการได้ และขอให้รัฐไทย หมายถึงกระทรวงการต่างประเทศโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีปี 53 ก่อนเลย แล้วจากนั้นก็นับหนึ่ง เปิดประตุให้ ICC เข้ามาหาข้อมูล

นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ดำเนินรายการ ถามว่า ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง นปช.ถือว่าเป็นพลังสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งให้เกิดแลนด์สไลด์ นางธิดา ระบุว่า “ขอพูดอย่างหนึ่งนะคะ ดิฉันไม่ได้คิดว่าตัวองค์กรนำ นปช.ยังดำรงอยู่นะ” 

นางธิดา ระบุว่า คือประชาชนและสมาชิก นปช.ยังอยู่ แต่ภาวะการนำเป็นองค์กรมันไม่มี พูดได้ในฐานะส่วนตัว

เมื่อถามย้ำว่า แต่ว่าแกนนำ นปช.เอง นางธิดา ระบุว่า ก็ไปคนละทิศละทาง

เมื่อถามว่า นางธิดามีความสัมพันธ์กับแกนนำ นปช.หลาย ๆ คนด้วย อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ปัจจุบันเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย) นางธิดา ระบุว่า ใช่ ๆ และที่สำคัญมีความเชื่อว่าในระหว่างเวลาที่ทำงานเป็นประธาน นปช.และเปิดโรงเรียน นปช. เป็นโรงเรียนการเมืองแบบบ้าน ๆ สำหรับชาวบ้าน แต่ว่ากันทีเป็นพัน ๆ คนและก็ร้องห่มร้องไห้ถ้าไม่ได้เข้าเรียน มันก็ได้ผลจำนวนหนึ่งก็คือว่ามันสามารถสร้างชาวบ้านประชาชนธรรมดาเป็น Active Citizen และเข้าใจว่าเขาทำงานการเมืองเพื่ออะไรนอกรัฐสภา ในรัฐสภาเขาก็เลือกเพื่อไทย หรือบางส่วนมาเลือกก้าวไกลก็มี คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่ายากที่จะกระโดดไปที่อื่น แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว

“ทีนี้ถ้าถามว่าพูดแทนหัวใจคนเสื้อแดง นปช.และแกนนำจำนวนมากได้ แต่ดิฉันไม่กล้าพูดในนามองค์กร เพราะว่าภาวะการนำไม่มี ถ้าไม่มีการนำรวมหมู่ ไม่มีการประชุม ภาวะการที่จะเป็นการนำโดยองค์กรก็ไม่มี แต่เป็นการนำทางอุดมการณ์และเหตุการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป ดิฉันมีความคิดอย่างนี้อะไรที่ทำง่าย ทำก่อน” นางธิดา ระบุ

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/photo?fbid=635466581280327&set=a.479386563554997