กรำศึกหนัก หลัง“รัฐประหาร 57”  บทเรียน“ประยุทธ์”วนจุดเดิม

กรำศึกหนัก หลัง“รัฐประหาร 57”  บทเรียน“ประยุทธ์”วนจุดเดิม

30 ก.ย.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยปัญหาวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่มาพร้อมกลิ่นโชย“รัฐประหาร” ไม่ว่าผลออกมาเป็นเช่นไร การเมืองนับต่อจากนี้ดุเดือดแน่นอน

ย้อนไป 8 ปีก่อน ความคาดหวังอย่างหนึ่งของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" คือการทำให้ “รัฐประหาร” 22 พ.ค.2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขหากการปฏิรูปประเทศสำเร็จ และการเมืองเดินไปตามที่ประชาชนต้องการ

แม้รัฐประหารครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะเตรียมตัวมาอย่างดี ด้วยการถอดบทเรียนจากรัฐประหารครั้งก่อน นำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาประเทศ ประจวบเหมาะคนไทยตกอยู่ในสภาวะเบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง ที่ผลักดันคะแนนความนิยมพุ่งสูง จนนำไปสู่จัดตั้งรัฐบาล คสช.พร้อมก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี

อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กฎอัยการศึก คือยาแรงที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้น ด้วยการตั้งกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อยเข้าประจำพื้นที่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สกัดแรงต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า ผ่านการออกคำสั่งเรียกรายงานตัว ห้ามทำกิจกรรมการเมือง และการปรับทัศนคติ

ก่อนกำเนิด “แม่น้ำห้าสาย” องค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประกอบด้วย คสช. ครม. สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) สปท.(สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ประกาศโรดแมพปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดอง พร้อมออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้ข้อครหาสืบทอดอำนาจ เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก

ทำให้เกิดการก่อตัวของม็อบนิสิตนักศึกษา ด้วยการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน “ชู 3 นิ้ว” ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจนานเท่าไร จากม็อบกลุ่มเล็กๆ ขยายเป็นกลุ่มใหญ่ลามไปทั่วสถาบันศึกษา สำทับด้วยฝ่ายการเมืองทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันโจมตี

แต่สถานการณ์ขณะนั้น เรียกได้ว่าความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังดีอยู่ สะท้อนได้จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หลังคะแนน ป็อบปูลาร์โหวต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ภายใต้การฟูมฟักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำโด่งเป็นอันดับ 1 คือ 7.9 ล้านเสียง

จนถูกใช้เป็นข้ออ้าง สร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่ง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ว่า ประชาชนให้ความไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้สมัครนายกฯ ในบัญชีของ พปชร.จนประสบความสำเร็จ สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล บริหารราชการแผ่นดินเรื่อยมา

จากนั้นไม่นานเกิดการแพร่ระบาด “โควิด-19” ต้นตอสำคัญทำคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ ดิ่งเหว หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรค จัดหาวัคซีนล่าช้า ล็อคสเปควัคซีนบางยี่ห้อ เอื้อกลุ่มนายทุน ส่วนการบริหารจัดการเศรษฐกิจก็ไม่ตรงจุด

ควบคู่ไปกับการลุกฮือม็อบนักเรียนศึกษาอีกครั้ง ในรูปแบบ “แฟลชม็อบ” จากกรุงเทพฯ ลามไปต่างจังหวัด และพัฒนาเป็นขบวนการ คณะราษฎร หรือราษฎร ชู 3 ข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ และองคาพยพ ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 มาดำเนินการกลุ่มผู้ชุมนุม ส่งผลให้แกนนำ แนวร่วมเป็นจำนวนมาก ถูกจับกุมอย่างต่อเนื่อง แม้หลายครั้งที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็สามารถประคับประคองสถานการณ์จนมาได้

ภายหลังโควิด-19 และ ม็อบสร่างซา พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเผชิญกับมรสุมหลายลูก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีสุดท้าย ก่อนรัฐบาลครบเทอมก็ไม่มีทีท่าคะแนนนิยมจะกระเตื้องกลับมา อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 ก็ถูกสั่นคลอน จนไม่เหนียวแน่นเหมือนครั้งก่อน

โดยเฉพาะการนั่งรักษาการนายกฯ ของ พล.อ.ประวิตร ที่มีแรงสนับสนุนของกลุ่มก๊วน พปชร. แท็กทีมเสริม ทหารนอกราชการบางกลุ่ม หวังผลักดันให้เป็นนายกฯ ตัวจริงในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะประเมินกันว่า กระแส พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อไม่ได้

ขณะที่ 30 ก.ย.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยปัญหาวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่มาพร้อมกลิ่นโชย“รัฐประหาร” ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร สถานการณ์บ้านเมือง ที่กำลังไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อแย่งชิงอำนาจการเมืองกันใหม่ ดุเดือดแน่นอน

แม้ พล.อ.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม จะออกมานั่งยันนอนยันว่า "ไม่มีรัฐประหาร ใครจะพูดอย่างไร ด้วยวัตถุประสงค์อะไร ก็ต้องไปถามคนนั้น เพราะทหารไม่มีเงื่อนไขอะไรที่นำไปสู่ตรงนั้น ขอให้ประชาชนอุ่นใจและสบายใจ" 

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” คงได้รู้แล้วว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้รัฐประหารหายไปจากสังคมไทย เพราะปัจจัยทางการเมือง ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ปัญหาต่างๆ ก็ยังวนกลับมายังจุดเดิม