ศาล รธน.เอกฉันท์รับตีความ 2 “กม.ลูก” ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่-ปมสูตรหาร 100 ด้วย

ศาล รธน.เอกฉันท์รับตีความ 2 “กม.ลูก” ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่-ปมสูตรหาร 100 ด้วย

“ศาลรัฐธรรมนูญ” มติเอกฉันท์ รับพิจารณาคำร้อง 2 ร่าง “กม.ลูก” ทั้ง “พ.ร.ป.พรรคการเมือง” ประเด็นคุณสมบัติสมาชิก-ทำไพรมารีโหวต “พ.ร.ป.เลือกตั้ง” ปมสูตรหาร 100 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรียกเอกสาร-พยานหลักฐานแจงใน 15 วัน

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ถึงการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการพิจารณาวาระสำคัญเกี่ยวกับ “กฎหมายลูก” 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

1.เรื่องพิจารณาที่ 19/2565กรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ว. รวม 77 ราย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 3, 4, 5, 6, 7, 9, 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45, 83, 86, 90, 91, 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ และตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีการปรับแก้ค่าสมัครสมาชิกพรรค คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ลดเงื่อนไขให้ผู้ถูกคำพิพากษาจำคุก แต่ยังไม่ถึงขั้นติดคุกลงสมัครรับเลือกตั้งได้ รวมถึงการจัดทำไพรมารีโหวต

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (1) มีมติเอกฉันท์รับไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งผู้ร้องทราบ พร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

2.เรื่องพิจารณาที่ 20/2565 กรณีประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว.รวม 105 ราย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 25, 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93, 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 100 หาค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมี รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวเนื่องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้ได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงมีหลังจากการเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (1) มาตรา 41 วรรคสอง มาตรา 43 และมาตรา 50 มีมติเอกฉันท์รับไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยให้ผู้ร้องและประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) ชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ