ผู้ตรวจฯผนึกกำลัง สสส.รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย” ลุยแก้ 3 ปัญหาเชิงระบบ

ผู้ตรวจฯผนึกกำลัง สสส.รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย” ลุยแก้ 3 ปัญหาเชิงระบบ

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน - สสส.- เครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย ร่วม “บิ๊กป๊อก” พ่วง “อิทธิพล-ตรีนุช-ชัชชาติ” รณรงค์วินัยดี Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี แก้ปัญหาเชิงระบบ 3 ด้าน กฎหมาย-ปรับปรุงกายภาพถนน-รณรงค์สร้างจิตสำนึก สร้างเครือข่ายการทำงานทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี  จัดกิจกรรมทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย”โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมและเน้นย้ำการสนับสนุนขับเคลื่อนให้เกิดทางม้าลายปลอดภัยในครั้งนี้

ผู้ตรวจฯผนึกกำลัง สสส.รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย” ลุยแก้ 3 ปัญหาเชิงระบบ

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา พบกว่า 500 เรื่อง  เป็นปัญหาเกี่ยวกับงานจราจร และในจำนวนนี้มากถึง 300 - 400 คน ต่อปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการข้ามถนน ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลการสำรวจการหยุดรถที่ทางม้าลาย พบว่าผู้ขับขี่รถเกือบร้อยละ 90 ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีสถิติสูงสุด จึงเล็งเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องเร่งร่วมมือกันรณรงค์ แก้ไขปัญหาดังกล่าวจากต้นเหตุให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างจริงจัง
จึงอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หยิบยกกรณีปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ทางข้าม (ทางม้าลาย) แก้ไขในเชิงระบบ ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการแก้ไขกฎหมาย 2. ด้านการปรับปรุงทางกายภาพ  3. ด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและการสร้างเครือข่าย 

ผู้ตรวจฯผนึกกำลัง สสส.รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย” ลุยแก้ 3 ปัญหาเชิงระบบ

นายทรงศัก กล่าวต่อว่า ในด้านการรณรงค์ฯ นั้น  สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกับ สสส. ในการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการทำงาน และ รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี" เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลายอย่างเป็นรูปธรรม  สำหรับด้านการแก้ไขกฎหมาย จะเสนอแนะให้เพิ่มเติมกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ควรกำหนดให้ผู้ขับขี่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังไม่มีการบัญญัติโทษไว้เป็นการเฉพาะ รวมถึงกำหนดกฎหมายเพิ่มบทลงโทษกับคนที่ฝ่าฝืน อาทิ กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่กับบุคคลที่ขับรถชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย กำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้นกรณีขับรถชนคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการกำหนดความเร็วในเขตชุมชน เช่น ไม่เกิน 30 กม./ชม. 

ในด้านกายภาพ จะมีการปรับพื้นที่ถนน อาทิ ติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึงทางม้าลาย ติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และมีสัญญาณไฟกระพริบเตือน จัดให้มีเส้นชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย โดยในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นองค์กรกลางสนับสนุนทุกหน่วยงานในการทำงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม  ตั้งเป้าในอีก 1 ปีข้างหน้า ทางม้าลายทุกทางรถจะต้องหยุดให้คนเดินข้าม ซึ่งจะติดตามประเมินผลทางสถิติอย่างต่อเนื่องจจจทุก 2-3 เดือน เพื่อดูว่าอุบัติเหตุหรือผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นลดลงหรือไม่อย่างไร

ผู้ตรวจฯผนึกกำลัง สสส.รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย” ลุยแก้ 3 ปัญหาเชิงระบบ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เล็งเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการการทำงาน สร้างความปลอดภัยบนทางม้าลายที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อน และรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันสิทธิทางม้าลายให้คนเดินเท้า ได้เดินข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย และพร้อมสนับสนุนการทำงาน ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนบนทางม้าลาย ทั้งการสื่อสารรณรงค์ ให้ความรู้ สนับสนุนการปฏิบัติการในพื้นที่ มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับทั้งผู้ขับขี่ที่ควรหยุดรถให้คนข้ามถนนที่ทางข้าม ส่วนคนเดินเท้าควรข้ามถนนที่ทางข้าม และระมัดระวังให้มากขึ้น ขอเน้นย้ำถึงการใช้ความเร็วที่ปลอดภัยในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กม./ชั่วโมง  โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน ตลาด และฝากถึงผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในบ้านเราที่มากกว่า 20 ล้านคัน ให้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง ช่วยลดการเสียชีวิตได้มากกว่า 50% เพื่อร่วมทำให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนต่อไป 

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี คู่ขนาน อีก 10 จุดทั่วกรุงเทพ คือ บริเวณทางข้ามทางม้าลายหน้าครุสภา เขตดุสิต ทางเข้าวัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิตหน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขตพระนคร หน้าวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร หน้าโรงเรียนสันติราษฎร์เขตราชเทวี หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตราชเทวี  เขตสวนหลวง และบริเวณแยกวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง รวมถึงหน่วยงานและภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ