“ชัชชาติ” เสนอผันน้ำผ่านจังหวัดอื่น สร้างสมดุล กรมชลฯยันไม่ท่วมเหมือนปี 54

“ชัชชาติ” เสนอผันน้ำผ่านจังหวัดอื่น สร้างสมดุล กรมชลฯยันไม่ท่วมเหมือนปี 54

“ชัชชาติ” รับลูกแผนป้องกันน้ำท่วม “ดร.เสรี” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เสนออนาคตผันน้ำผ่านจังหวัดอื่น สร้างความสมดุลระบายน้ำ ยันต้องลงพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อให้เห็นปัญหา ด้าน “กรมชลประทาน” ยันปี 65 ไม่ท่วมเหมือนปี 54 เฝ้าระวังปริมาณฝนใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประชุมร่วมกับ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และกรมชลประทาน เพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม โดยเริ่มประชุมกันที่โรงเรียนกุศลศึกษา วัดชัยพฤกษมาลาฯ เขตตลิ่งชัน

โดยระหว่างการประชุม นายเสรี ได้เสนอแผนระยะสั้นว่า อยากให้จัดตั้งศูนย์บริการน้ำส่วนหน้าเขต โดย มี ผอ.สำนักงานเขตเป็นหัวหน้าศูนย์เพื่อประสานคนในท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด และให้ผู้อำนวยการเขตตืดตามสถานการณ์ฝน น้ำ และประเมินความพร้อม และให้ผู้ว่าฯ บัญชาการติดตาม ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสั่งการ และชี้แจงกับประชาชน และประสานหน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยลดผลกระทบ

ส่วนแผนระยะกลาง และระยะยาว  ได้เสนอ ให้ ผอ.สำนักงานเขต หน่วยงาน และภาคประชาชน หาพื้นที่หน่วงน้ำ พื้นที่สีเขียว ถังเก็บน้ำ และการระบายน้ำในพื้นที่ และประเมินการใช้พื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน และให้ผู้ว่าฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

นายเสรี ระบุอีกว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงหลังจากนี้ ฝนจะตกมากขึ้น ส่งผลทำให้สถานการณ์น้ำท่วมนั้นจะหนักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยในเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้จะเจอน้ำท่วมนานกว่าทุกที่  ส่วนวันที่ 17-22 ก.ย.ที่กรมอุตุคาดการณ์นั้น มองว่า ผอ.สำนักงานเขตก็จะต้องเตรียมความพร้อมด้วย

นายเสรี ระบุด้วยว่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์ฝนตกทั่ว กทม. ผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นต้องตระเวนไปทุกพื้นที่ โดยให้เป็นศูนย์กลางในการสั่งการ และ ผอ.สำนักงานเขตดำเนินการ แต่อาจจะไปในเขตที่มีข้อจำกัดในการจัดการได้ พร้อมกับชื่นชม ผู้ว่าฯ กทม. ที่มีแผนที่ชัดเจน และเห็นถึงความตั้งใจ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจมากขึ้น แต่อนาคตข้างหน้าเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่นายชัชชาติ ได้รับปากจะวางรากฐานไว้ให้

ขณะที่ นายชัชชาติ ระบุว่า สภาพภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในครึ่งเดือนแรกของ ก.ย. กทม. ฝนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น ต้องไปปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อย่างไรก็ดีไม่ได้กังวลกับน้ำเหนือ แต่ห่วงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ กทม.ที่มีค่อนข้างมาก ดังนั้นการระบายน้ำเฉพาะจุดในระยะสั้น ๆ ต้องเร่งทำ 

ส่วนเรื่องข้อเสนอ ให้เอาประชาชนมาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปแก้ไขนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น และ กทม.จะต้องสนับสนุนทรัพยากร เช่น กระสอบทรายต่าง ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลน้ำในพื้นที่ที่จะต้องไปพัฒนา และการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือ

นายชัชชาติ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมา กทม.ผันน้ำแค่ภายใน กทม. แต่ในอนาคตต้องผันน้ำให้ผ่านจังหวัดอื่นด้วย โดยให้กรมชลประทานเป็นตัวกลาง เพราะเห็นภาพรวมมากกว่า และเพื่อให้เกิดการสมดุลในการระบายน้ำ และผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องแสดงความร่วมมือ โดยหลังจากนี้ กทม.จะเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับพื้นที่ปริมณฑล 

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลาดกระบังนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า เริ่มดีขึ้น ระดับน้ำลดลงเท่ากับระดับควบคุม เหลือเพียงพื้นที่ย่อย ๆ ในชุนชนที่เป็นปัญหา จะต้องไปดูแล เพราะมีน้ำเข้าไปค้างและออกไม่ได้ โดยจะต้องเอาเครื่องสูบน้ำเข้าไปสูบน้ำออกจากพื้นที่

นายชัชชาติ ยังชี้แจงถึงกรณีที่ต้องลงพื้นที่ด้วยตัวเองว่า ก่อนจะลงพื้นที่ทุกครั้งก็จะไปติดตามสถานการณ์ที่ศูนย์สั่งการก่อน และเมื่อสั่งการแล้ว จึงลงพื้นที่ ไปให้กำลังใจหน้างาน และไปให้เห็นปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์และทรัพยากรของ กทม.

ส่วนนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิยา ระบุว่า  4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ยังสามารถ รับน้ำได้อีก 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แตกต่างกับปี 2554 ที่ในช่วงนี้เหลือเพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ยังสามารถกักเก็บน้ำได้ ส่วนปริมาณฝนในปีนี้ ถ้าเทียบกับปี 2554 ยัง แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และปีนี้ ยังไม่มีพายุเข้ามาที่ประเทศไทย แต่ยังต้องเฝ้าระวังในอีก 1 เดือนหลังจากนี้ว่าจะมีพายุเพิ่มหรือไม่ รวมถึงดูน้ำเหนือที่จะมาเติมด้วย 

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ร่วมระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในหลายพื้นที่ เช่น ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำลงสู่คลองใหญ่และคลองย่อย ซึ่งหลังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้วก็ช่วยทำให้ระดับน้ำที่ลาดกระบังลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึง บริเวณสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ทำให้น้ำในพื้นที่เขตประเวศและใกล้เคียงลดลง หากช่วง 3-4 วันนี้ฝนไม่ตกมาเติมจะสามารถพร่องน้ำได้ 

กรมชลประทาน ยังต้องติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่อยู่ท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยจะไปวิเคราะห์สถานการณ์ และการระบายน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ หากปริมาณฝนตกไม่เกินค่าเฉลี่ยสามารถรับมือได้ แต่หากตกเกินก็มีความจำเป็นที่จะต้องระบายออก พร้อมยืนยันว่า กรมชลประทานมีการประสานงานกับ กทม.และพื้นที่รอยต่อปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง