โฆษกรัฐบาลเผยแผน “ปฏิรูปการศึกษา” คืบหน้า เร่งยกระดับคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ

โฆษกรัฐบาลเผยแผน “ปฏิรูปการศึกษา” คืบหน้า เร่งยกระดับคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ

“โฆษกรัฐบาล” เผยแผน “ปฏิรูปการศึกษา” คืบหน้า เน้น 5 ประเด็นหลัก เร่งยกระดับคุณภาพจัดการศึกษา-ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการศึกษาว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าของงานตามลำดับ ตั้งแต่การวางโครงร่างปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ในช่วงปี 60-62 การดำเนินงานร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 7 ด้าน 131 โครงการ รวมทั้งได้ปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับที่ 2 เน้น 5 ประเด็นหลักหรือ 5 Big Rocks และประกาศใช้เมื่อต้นปี 64 โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมุ่งสู่ความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นายอนุชา กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ว่า เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับหลักการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 61-80) รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ การมีหลักเกณฑ์และวิธีการได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ และได้รับการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลเร่งแก้ไข สาเหตุส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกับดักทางรายได้ของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคตลอดช่วงวัย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาของประเทศช่วงที่ผ่านมา มีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต