ปธ.ศาล รธน.กังวล-สั่งสอบปมความเห็น “มีชัย” หลุด-ลุ้นประชุมวาระพิเศษ 8 ก.ย.

ปธ.ศาล รธน.กังวล-สั่งสอบปมความเห็น “มีชัย” หลุด-ลุ้นประชุมวาระพิเศษ 8 ก.ย.

“ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” กังวลปมเอกสารความเห็น “มีชัย” ว่อนโซเชียล สั่งสอบข้อเท็จจริงหลุดได้อย่างไร ไม่คอนเฟิร์ม 8 ก.ย.จะนัดฟังคำวินิจฉัยปมวาระ 8 ปีนายกฯเลยหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “วาระพิเศษ” ในวันที่ 8 ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน และคำชี้แจง กรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

นายเชาวนะ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการรับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. และดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาตามลำดับขั้นตอนมาโดยลำดับ เป็นการดำเนินการที่อยู่ระหว่างกระบวนการวิธีพิจารณา การที่ศาลได้มีการนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถือว่าศาลไปเร่งเวลา หรือทำให้เวลามันช้าลงแต่อย่างใด

“ขอเรียนว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ศาลดำเนินการมาโดยตลอด ดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นปกติ แต่ถามว่า คดีนี้มีความสำคัญหรือไม่ ถือว่ามีความสำคัญ ศาลให้ความสำคัญ แต่ไม่ได้เร่งรัด หรือทำให้ช้า หรือดำเนินการโดยที่ลัดขั้นตอนแต่อย่างใด” นายเชาวนะ กล่าว

เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในวันที่ 8 ก.ย.จะมีผลเป็นอย่างไร ศาลจะมีข่าวสารให้เพิ่มเติมต่อไป แต่ในวันนี้ขอเรียนว่า ตามที่มีข่าวสารเกี่ยวเนื่องกับการนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ จะมีผลออกมาเป็นเสียงข้างมาก ข้างน้อย เท่านั้นเท่านี้ ขอเรียนว่า โดยกระบวนการยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ยังไม่ถึงขั้นจะทราบได้ว่า มติจะเป็นอย่างไร เพราะขั้นตอนของการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ เป็นเพียงการนำข้อมูลข่าวสาร พยานหลักฐานที่ศาลขอมาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความเพียงพอที่จะพิจารณา และนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไปได้หรือไม่

“การที่มีข่าวในทำนองว่า จะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน หรืออย่างไรนั้น ยังไม่มี เงื่อนไขของการนัดเวลาที่จะอ่านคำวินิจฉัย เพราะลำดับขั้นตอนเมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้มาแล้ว จะมีการอภิปรายว่า อยู่ในชั้นที่พอพิจารณา ตัดสินได้หรือไม่ ถ้ายังไม่พอ ในกระบวนวิธีพิจารณา ศาลจำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมกฎหมาย เช่น ขอพยานเอกสารจากบุคคล หรือขอให้บุคคลมาให้ถ้อยคำก็ได้ หรือขอให้หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานสอบสวนมากระทำ หรือให้การอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นประโยชน์ในการพิจารณาต่อศาลก็ได้ หรือดำเนินขั้นตอนในการไต่สวนด้วยก็ได้ นั่นคือลำดับวิธีการพิจารณาตามปกติตามกฎหมาย โดยการที่มีการกำหนดเรื่องผลการพิจารณาเป็นกี่เสียง หรือกำหนดวันหนึ่งวันใด กราบเรียนว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น” นายเชาวนะ กล่าว

นายเชาวนะ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญวันนี้ที่ต้องขอความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากสื่อคือ กรณีมีข่าวว่า มีหนังสือที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้หลุด หรือรั่วไปถึงสื่อโซเชียล ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวรวิทย์ กังศศิเทียม) ให้ความสำคัญ และกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากนอกจากจะต้องติดตาม ตรวจสอบต่อไปว่า เป็นเอกสารที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว ยังกังวลจากเหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นนั้น และมีการพาดพิงกระทบผู้เกี่ยวข้องส่วนต่าง ๆ ท่านประธานเห็นว่า ควรกราบเรียนสื่อให้ทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป และมีความเสียใจว่าหลุดอย่างไร แต่กระทบต่อผู้ให้ความเห็น มีการพาดพิงคู่ความในส่วนต่าง ๆ ของคดีด้วย เรียนถึงสื่อให้ช่วยลงข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ว่า ข่าวสารดังกล่าวยังอยู่ในชั้นของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาล และยังไม่มีข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะตรวจสอบว่ามีเอกสารความเห็นของนายมีชัยหลุดได้อย่างไร นายเชาวนะ กล่าวว่า เนื่องจากเอกสารที่ว่าระบุว่า เป็นความเห็นของนายมีชัย ถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อเท็จจริงศาลได้มีการขอเอกสารความเห็นไปจริง แต่เอกสารที่รั่วไหลไป เนื่องจากมีการอ้างว่าเป็นเอกสารที่นายมีชัยส่งให้ศาล มีความจำเป็นที่ศาลต้องตรวจสอบด้วย

“เบื้องต้น เพื่อให้เห็นว่าในทางปฏิบัติ มาตรการต่าง ๆ ที่เรากำหนด ควบคุมไว้ทุกขั้นตอน มีข้อบกพร่องที่จะทำให้เกิดเหตุเช่นนั้นได้หรือไม่ ส่วนว่าจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่หลัง แต่ในชั้นต้น การตรวจสอบเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเอกสารในสำนวนคดี ศาลต้องตรวจสอบด้วย หมายถึงการตรวจสอบในชั้นธุรการ ไม่ใช่เรื่องการพิจารณาคดี” นายเชาวนะ กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการเอาผิดคนปล่อยเอกสารความเห็นของนายมีชัยหรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเรื่องว่า ไปทางไหนอย่างไร แต่เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ให้ความเห็น และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน คาดการณ์ถึงผลของความเห็นดังกล่าว อาจเกิดการตัดสินในทางนั้นทางนี้ ตรงนั้นเป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้อง แต่โดยหลักเมื่อมีเหตุอย่างนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ควรต้องมีการตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อน

“เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการพิจารณา เนื่องจากคดียังไม่เสร็จสิ้น หากมีเหตุใด ๆ ระหว่างการพิจารณา มีข่าวว่าเอกสารรั่วไหล เหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงต้องระมัดระวัง เพิ่มการรอบคอบในการดำเนินการ แม้ไม่ทราบว่าจะมาจากไหน หลุดจากไหน แต่เป็นสิ่งที่ศาลพึงให้ความสำคัญ และเพิ่มมาตรการให้รัดกุมมากขึ้น” นายเชาวนะ กล่าว

เมื่อถามว่า เอกสารความเห็นของนายมีชัย ที่หลุดในโซเชียลมีเดียเป็นของจริงหรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเห็นแบบเดียวกับสื่อ เห็นในโซเชียล

นายเชาวนะ กล่าวด้วยว่า เรื่องเวลากฎหมายกำหนดไว้ในคดีบางเรื่อง เช่น กฎหมายงบประมาณ พ.ร.ก. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น คดีเหล่านี้จะกำหนดกรอบเวลาเฉพาะเจาะจง 15-20 วัน แต่คำร้องลักษณะของวาระดำรงตำแหน่ง ไม่มีกำหนดเงื่อนไขเวลา แต่ขั้นตอนการพิจารณาคดีมีกำหนดเวลาไว้อยู่ โดยตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการปรึกษาหารือ และลงมติ ปกติคำร้องที่มีคู่กรณี ตามประเพณีปฏิบัติ ศาลจะลงมติกันในรุ่งเช้า และอ่านในช่วงบ่ายหรือเย็นวันเดียวกัน การที่ศาลจะอ่าน ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ระหว่างไต่สวน ศาลจะนัดล่วงหน้า โดยมีกรอบเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความมาฟัง

“ในการพิจารณาศาลสามารถแจ้งคู่กรณีในการไต่สวนครั้งหลังสุดได้เลยว่า จะให้มาฟังเมื่อไหร่อย่างไร แต่ ณ เวลานี้การไต่สวนยังไม่มี ถ้าศาลจะนัด ศาลจะนัดตามเกณฑ์ของกฎหมายคือ ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน” นายเชาวนะ กล่าว