กาง กม.-ขั้นตอนควบรวมพรรค “กล้า-ชาติพัฒนา” ผนึกการเมือง

กาง กม.-ขั้นตอนควบรวมพรรค “กล้า-ชาติพัฒนา” ผนึกการเมือง

กางกฎหมาย-เปิดขั้นตอนควบรวมพรรคการเมือง ก่อน “กรณ์-สุวัจน์” แถลงใหญ่ นำ “กล้า-ชาติพัฒนา” ขยับร่วมมือทำงานการเมือง-เศรษฐกิจ

วันนี้ (1 ก.ย.) พรรคกล้า และพรรคชาติพัฒนา นำโดย "กรณ์ จาติกวณิช" หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง และ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง จะร่วมกันแถลงข่าวทางการเมือง 

โดยเบื้องต้นจะร่วมเสนอทางออกเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ขณะที่ในอนาคตจะร่วมกันทำงานทางการเมือง เพื่อเสริมศักยภาพให้กับทั้งพรรคชาติพัฒนา และพรรคกล้า ในการเลือกตั้งต่อไป ท่ามกลางการจับตาว่า จะมีการควบรวมพรรคกล้าและพรรคชาติพัฒนาเป็นสเต็บต่อไป

กฎหมายเกี่ยวกับการควบรวมพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 9 การควบรวมพรรคการเมือง บัญญัติไว้ 4 มาตราที่เกี่ยวข้อง 

แต่เบื้องต้นคือ ณ เวลานี้ พรรคกล้า และพรรคชาติพัฒนา ยังไม่สามารถ “ควบรวม” จัดตั้งพรรคได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากติดมาตรา 96 ที่ระบุว่า ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็น ส.ส.มิได้ ซึ่งพรรคชาติพัฒนา มีจำนวน ส.ส.รวม 4 คนในสภาชุดนี้ ส่วนพรรคกล้ายังไม่มี ส.ส.ในสภาชุดนี้

สำหรับขั้นตอนการควบรวมพรรคการเมืองนั้น ระบุไว้ในมาตรา 97, 98 และ 99 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สรุปได้ว่า การควบรวมพรรคการเมือง ให้กระทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ 

โดยให้พรรคที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรค หลังจากนั้นส่งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค พรรคละ 10 คน มาประชุมร่วมกัน เพื่อร่างข้อบังคับพรรคใหม่

หลังจากนั้น ให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคที่จะรวมกัน เพื่อประชุมตั้งพรรคการเมือง และดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำสั่งให้พรรคการเมืองเดิมที่ควบรวมกันสิ้นสุดลง และให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น และให้บรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดชอบของพรรคการเมืองเดิม โอนไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรค หลังจากนั้นให้นายทะเบียนประกาศคำสั่ง การสิ้นสุด และการควบรวมพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ข้อมูลของพรรคการเมือง ตามการเผยแพร่ของ กกต.ล่าสุดเมื่อ 24 ส.ค. 2565 ระบุว่า พรรคชาติพัฒนา ก่อตั้งเมื่อ 3 ต.ค. 2550 มีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรค นายวัชรพล โตมรศักดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรค 24 ราย มีสมาชิก 12,425 ราย มีจำนวน ส.ส. 4 ราย (จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562) มี 4 สาขา 55 ตัวแทน

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคชาติพัฒนาได้รับโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 10 ก.ค. 2562-20 ก.ค. 2563 ก่อนจะถูกปรับออกจาก ครม.ไป

ส่วนพรรคกล้า ก่อตั้งเมื่อ 29 มิ.ย. 2563 มีนายกรณ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรค 5 ราย มีสมาชิก 24,634 ราย ไม่มี ส.ส. มี 8 สาขา 72 ตัวแทน

สำหรับพรรคกล้า ภายหลังนายกรณ์ และนายอรรถวิชช์ แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้น มีการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งซ่อมระหว่างปี 2563-2565 จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ เลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช เลือกตั้งซ่อมสงขลา เลือกตั้งซ่อมชุมพร และเลือกตั้งซ่อม กทม.เขตหลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) พ่ายแพ้ทั้ง 4 ครั้ง

 โดยเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อม กทม.เขตหลักสี่-จตุจักร ส่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรค ลงเลือกตั้งด้วย แต่ได้คะแนนไป 20,047 คะแนน เข้าวินอันดับ 3 ห่างจากอันดับ 1 เพียงแค่ 9,369 คะแนน โดยนายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะไป 29,416 คะแนน