8 ปี "ประยุทธ์" การเมืองติดหล่ม-ปฏิรูปเหลว บทพิสูจน์ ทหารสืบทอดอำนาจ

8 ปี "ประยุทธ์" การเมืองติดหล่ม-ปฏิรูปเหลว บทพิสูจน์ ทหารสืบทอดอำนาจ

8 ปี การเมืองติดหล่ม-ปฏิรูปเหลว ข้อครหา ยุทธศาสตร์ “3 ป.” วางเกมสืบทอดอำนาจลากยาว สภาพ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม บทพิสูจน์ ทหารควรอยู่ในการเมืองต่อหรือไม่

ครบ 8 ปี 24 ส.ค.2565 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทย ส่วนจะได้ไปต่อหรือไม่อยู่ที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะเป็นผู้ชี้ขาด

เมื่อย้อนไปยังจุดเริ่มต้น 24 ส.ค.2557 “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ต่อด้วยการชุมนุมยืดเยื้อขับไล่รัฐบาล ขัดขวางการเลือกตั้ง พร้อมชูธงปฏิรูปการเมือง

เช่นเดียวกับการเข้ามาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกคาดหวังจะเข้ามาปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง แต่เพียงเริ่มต้น กลับโดนข้อครหา เนื่องจาก คสช.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยังกำหนดให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันท์ เป็นประธาน แบ่งเป็น 12 ด้าน ประกอบด้วย การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน สังคม และอื่นๆ

ขณะเดียวกัน มีการแต่งตั้ง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่าเมื่อ “บวรศักดิ์” ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย. 2558 สปช.กลับมีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ทำให้ สปช.ต้องถูกยุบทิ้งไป

ทำให้ “บวรศักดิ์” ผู้ถูกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างมากับมือ ออกมาสารภาพว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จึงเป็นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ถูก สปช.โหวตคว่ำ

ที่สำคัญเป็นการยืดเวลาให้ “พล.อ.ประยุทธ์-คสช.” อยู่ต่อไปอีก พร้อมแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้ง "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน และแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 200 คน มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ทว่าการร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย” วางกลไกทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์-คสช.” อยู่ต่ออย่างแนบเนียนตามคำสารภาพของ “บวรศักดิ์” ที่สำคัญระหว่างที่ “มีชัย” ร่างรัฐธรรมนูญ มีคำแนะนำจาก “คสช.” เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ตลอดเวลา

ก่อนกำหนดวันออกเสียงลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 มีประชาชนเห็นชอบ 16,820,402 เสียง ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนบางส่วน เนื่องจากมีการจับกุมกลุ่มคัดค้านที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ตั้งกก.ปฏิรูป 3 ชุดเหลวหมด

ด้านการปฏิรูปซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้มีการแต่งตั้งกรรมการปฏิรูป 3 ชุด 1.สภาปฏิรูปแห่งชาติ 2.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป และ3.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ชุด ซึ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563

ทว่า กรรมการปฏิรูป 3 ชุด จากการแต่งตั้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่มีแม้แต่ชุดเดียวที่มีผลงานเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ทำให้การปฏิรูปยังติดหล่มย่ำอยู่กับที่ ไม่ต่างจากก่อน 24 ส.ค.2557 เลยแม้แต่น้อย

ยิ่งการปฏิรูปตำรวจ แทบไม่มีความคืบหน้า ทำได้ใกล้เคียงที่สุด คือการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แต่ยังค้างเติ่งอยู่ในสภา ประเด็นถกเถียงการแยกอำนาจ “สืบสวน-สอบสวน” ยังหาข้อสรุปไม่ได้

จึงไม่แปลกที่ “ถาวร เสนเนียม” อดีต กปปส. จะออกมาทักท้วงว่าผลงานการปฏิรูปประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่โดนใจชาว กปปส.

การเมืองถอยหลัง-รัฐสภาเสื่อม

ฟากฝั่งงานด้านการเมือง นอกจากจะไม่มีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง การสืบทอดอำนาจของ “3 ป.” ยังทำให้การเมืองเดินถอยหลังย้อนยุคไปไกล เนื่องจากจุดเริ่มต้นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือการรวบรวม “นักการเลือกตั้ง” ร้อยพ่อพันแม่มามัดรวมอยู่พรรคเดียวกัน

ภายหลังการเลือกตั้ง จึงเกิดภาพการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีของกลุ่ม-ก๊วน ภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่างกลุ่มต่างก๊วนต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง

ถัดมามีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า “หัวขบวน พปชร.” ทำสวนกล้วยไว้แจก “ส.ส.พรรคเล็ก” เพื่อแลกกับเสียงโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหวต พ.ร.บ.งบประมาณ และโหวตสำคัญๆ จนทำให้สภาแปดเปื้อนมากกว่าเดิม

ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรสองใบ มาจนถึงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เต็มไปด้วยกลเกมการเมือง ล่าสุดการปล่อยให้สูตรหาร 500 ต้องตกไป เนื่องจากครบกำหนด 180 วัน โดยปรากฏภาพ ส.ส.-ส.ว. ไม่เข้าร่วมการประชุม เพื่อสนองกลเกมของ “ผู้มีอำนาจ” ทำให้สภาเสื่อมลงอย่างหนัก

ลำดับทุจริตร่วง-คะแนนดิ่งหนัก

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ไม่พูดคงไม่ได้ นั่นคือในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นวงกว้าง ย้อนดูผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ของ 168 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาถึงผลปี 2564 (ผลล่าสุดที่เผยแพร่) พบว่า ประเทศไทย ได้คะแนนวนเวียนอยู่ 35-38 คะแนน แม้ในอาเซียนจะติดลำดับบน แต่ในภาพรวมลำดับโลกนั้นยังอยู่ลำดับกลาง ๆ ค่อนไปทางต่ำด้วยซ้ำ

ไล่เรียงกันคือ ปี 2558 (รัฐบาล คสช.ได้บริหารแผ่นดินแบบเต็มปีงบประมาณครั้งแรก) ไทยได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 ของโลก ปี 2559 ได้ 35 คะแนน ตกมาอยู่อันดับ 101 ของโลก ปี 2560 ได้ 37 คะแนน ขึ้นไป 96 ของโลก ระหว่างปี 2561-2563 ได้ 36 คะแนนติดต่อกัน และล่าสุดปี 2564 ได้เพียง 35 คะแนน เทียบเท่ากับปี 2559 แต่ลำดับร่วงไปอยู่ที่ 110 ของโลก

หยิบเอาบทวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากผลคะแนน CPI ปี 2564 มาดู จะพบว่า สาเหตุสำคัญที่ผลคะแนนของไทยตกต่ำลงเรื่อย ๆ มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมเรียกรับสินบน หรือสิ่งของอื่นใด และเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมขโมยเบียดบังเงินหรืองบประมาณ หรือทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนอยู่

พวกพ้อง-เครือญาติพันปมทุจริต

แม้หลายครั้งจะไม่มีพยานหลักฐานใดพิสูจน์เอาผิดไปถึงตัว “นายกฯ” ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนข้างกาย” นายกฯต่างสร้าง “รอยด่างพร้อย” ให้ เริ่มจาก “น้องชาย” ที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ (ปัจจุบัน ป.ป.ช.ตีตกคดีดังกล่าวไปแล้ว) “หลานชาย” ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่กลับแจ้งที่อยู่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งในค่ายทหาร กวาดงานภาครัฐไปหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะโครงการของกองทัพ จนถูกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ยกให้เป็น “กรณีตัวอย่าง” พร้อมกับติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

คนใกล้ตัวถัดมาคือ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ในประเด็น “แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ ทว่ามีมติตีตกคำร้องกล่าวหา ทั้งเรื่องจงใจปกปิดทรัพย์สิน และกรณีรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท โดยหล่นวาทกรรมคลาสสิกว่า “เป็นการยืมใช้แบบคงรูป” ไม่มีความผิดแต่อย่างใด

ยังไม่นับ อิทธิพล-บารมีของ “บิ๊ก ป.” หัวใจสำคัญตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงรัฐบาลชุดนี้ ที่เฟ้นหาคนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง “องค์กรอิสระ” ต่าง ๆ จนสุดท้ายตีตกสารพัดคำร้อง-คดีความของ “พรรคพวก” ตัวเองจนเกลี้ยง ทั้งที่บางคดียังค้างคาใจสาธารณชน เช่น กรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ คดีแหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน และกรณี “หลานชาย” เปิดบริษัทรับเหมาฯในค่ายทหาร กวาดงานรัฐนับพันล้านบาท เป็นต้น

วางโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

สำหรับผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงรัฐบาล คสช.ปี 2557-2562 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ตะวันออกต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแรกที่มีการออกกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งมีการเตรียมประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน

รวมทั้งมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งจะเน้นส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับรายได้ของประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยมีการประมูลรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีแดงส่วนต่อขยาย รวมถึงมอเตอร์เวย์ เช่น บางใหญ่-กาญจนบุรี

รวมทั้งรัฐบาลได้วางระบบการชำระเงินแห่งชาติ (พร้อมเพย์) เพื่อลดต้นทุนการของการชำระเงินและการโอนเงินของประชาชน รวมทั้งลดค่าใช้งบประมาณสำหรับการจัดพิมพ์ธนบัตร โดยสร้างแรงจูงใจการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่เป็นรายได้หลักของธนาคาร

แก้เศรษฐกิจเหลว-รายได้ปชช.ลด

2.ช่วงรัฐบาล 2562-2565 เป็นการบริหารในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อในไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยไตรมาส 2 ปี 2563 ติดลบ 12.2% เศรษฐกิจต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การท่องเที่ยวหายไปเพราะมีการปิดประเทศ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศลดลงจากรายได้ประชาชนที่ลดลง

สถานการณ์ดังกล่าวรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.รวม 2 ฉบับ เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือการแพร่ระบาด รวมถึงการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และใช้เพื่อการฟื้นฟูประเทศ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เตรียมการไว้ตั้งแต่รัฐบาล คสช. โดยเฉพาะโครงการในอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถประมูลโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคได้ตามแผน ซึ่งโครงการที่ยังไม่สามารถประมูลได้ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่พ่วงงานวางระบบและงานเดินรถทั้งสาย ทั้งที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกก่อสร้างคืบหน้าไปมากว่า 90% แล้ว

ส่วนการรับมือผลกระทบจากภายนอก เช่น วิกฤติพลังงาน รัฐบาลได้ใช้วิธีการอุ้มราคาดีเซลและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันติดลบแล้ว 118,000 ล้านบาท โดยไม่ใช้แนวทางอื่นเข้ามาช่วยดูแลราคาพลังงาน เช่น การลดเติมไบโอดีเซล การเก็บเงินกำไรจากโรงกลั่น

สภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ในห้วง 8 ปีที่ผ่านมา กำลังเป็นบทพิสูจน์นานพอให้เห็นว่า ทหารควรอยู่ในการเมืองต่อไปหรือไม่