“โหวตประยุทธ์” ลงจากหลังเสือ จับตา "ปลุกม็อบ" ขย่มปม 8 ปี 

“โหวตประยุทธ์” ลงจากหลังเสือ จับตา "ปลุกม็อบ" ขย่มปม 8 ปี 

แม้ว่ากระแสกดดันวาระ 8 ปี “นายกฯ บิ๊กตู่” จะร้อนแรง แต่ฟันธงได้เลยว่าม็อบที่จะจัดในวันที่ 21-24 ส.ค.นี้ คงแทบไม่มีพลังอะไรมากนัก เพราะ “ฝ่ายการเมือง” รู้กันดีอยู่แล้วว่า ช่วงเวลานี้คือ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน จะเข้าเส้นตายในวันที่ 24 ส.ค.2565 ชี้ชะตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีหรือไม่

ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล รวมตัวยื่นหนังสือถึง “ชวน หลีกภัย” ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้แล้ว โดยในวันที่ 22 ส.ค.2565 หนังสือของ “นายหัวชวน” จะถูกส่งไปถึงมือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนทางธุรการ ก่อนจะส่งเรื่องไปยังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยต่อไป

เงื่อนปมของเรื่องนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกนำมาขยายโดย “ฝ่ายค้าน” ทั้ง “ในสภา” และ “นอกสภา”

โดยเฉพาะเครือข่ายนักวิชาการ และสื่อสารมวลชน กับกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่กดดันให้ตัดสินใจยุติบทบาทเพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การผนึกกำลังของ 51 อาจารย์ นิติศาสตร์ จาก 15 มหาวิทยาลัย ร่วมกันยื่นหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญระบุว่า รัฐธรรมนูญ ปี 60 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ดังนั้น การเริ่มดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ 24 ส.ค.2557 จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 ถ้าเกินจากนั้นต้องพ้นตำแหน่งทันทีในวันถัดไป

ล่าสุดยังมี ความความเคลื่อนไหวของโครงการเสียงประชาชน ประกอบด้วยนักวิชาการ 8 สถาบัน ร่วมกับสื่อมวลชน 8 สำนัก ประกอบด้วยสื่อทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ ออกแคมเปญเปิดโหวตเสียงประชาชน เรื่อง 8 ปี นายกรัฐมนตรี 20-21 ส.ค.นี้ กับประเด็นที่ว่า การวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นตำแหน่งนายกฯ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะประชาชน เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหรือไม่ ผ่านQR code วิธีการนี้ก็ถือเป็นกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะส่งเสียงสะท้อนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี

ทางด้านความเคลื่อนไหวชุมนุม กลุ่มที่ออกตัวแรงขับเคลื่อนขยี้ปมร้อน นำโดย “คณะหลอมรวมประชาชน” ที่มี “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. และ “ทนายนกเขานิติธร ล้ำเหลือ เป็นแกนนำ โดยนัดมวลชนชุมนุมในวันที่ 21-24 ส.ค.นี้ 4 วันรวด ที่ลานคนเมือง กทม.

ที่ผ่านมา “คณะหลอมรวมประชาชน” มักถูกมองว่าเป็น “ม็อบนอกสายตา” เพราะเหมือนเป็นที่รวมตัวของบรรดา “แกนนำอกหัก” ทั้ง “จตุพร” ที่ถูกเขี่ยออกจาก “การนำ” ในขบวนการคนเสื้อแดงปีก นปช. ส่วน “ทนายนกเขา” คือ อดีตแกนนำม็อบเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ระหว่างปี 2556-2557 ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คณะหลอมรวมประชาชน เริ่ม “จัดตั้ง” ขับไล่ “นายกฯ” มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 สมัยที่กระแส “ม็อบ 3 นิ้ว” ยังคง “กระแสสูง” โดยขณะนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็น “ม็อบตัดม็อบ” ทำตัวเป็น “ฉนวน” ให้การชุมนุมขีดเส้นใต้ไว้ถึงแค่ “ไล่บิ๊กตู่” ไม่ให้ลุกลามไปพาดพิงถึงสถาบันฯเบื้องสูง

แน่นอนว่าแนวทางนี้ ขัดแย้งกับภาพของ “ม็อบ 3 นิ้ว” ที่มีข้อเสนอ “ทะลุเพดาน” ไม่ใช่แค่ขับไล่ “นายกฯ” อีกต่อไป

เห็นได้ชัดคือ ปรากฏภาพการม็อบ “จตุพร-นกเขา” ขับไล่กลุ่มเยาวชนที่ไปร่วมชุมนุมและชู 3 นิ้ว คัดค้านการชูป้าย “ยกเลิก 112” มาแล้ว ดังนั้นค่อนข้างแน่นอนว่า “เครือข่าย 3 นิ้ว” ไม่มีทางไปร่วมสังฆกรรมกับม็อบ “จตุพร-ทนายนกเขา” อย่างแน่นอน

ที่สำคัญสำหรับ “จตุพร” คนวงใน นปช.รู้กันมานานแล้วว่า “ขบวนการเสื้อแดง” แยกออกเป็น 2 สายหลักอย่างชัดเจน โดยสายของ “จตุพร” คือ “สายรามอินทรา 40” ที่ถูกอัปเปหิจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” จึงมีพาวเวอร์ค่อนข้างน้อยในกลุ่มแดง นปช. ที่ปัจจุบันเข้าข้าง “สายสนามบินน้ำ”

“แดงสนามบินน้ำ” สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันถูกดึงเข้าไปร่วมผนึกกำลัง “ครอบครัวเพื่อไทย” หมายมั่นปั้น “แลนด์สไลด์” อยู่ ดังนั้นคงไม่อาจสร้าง “ความเสี่ยง” เดือดร้อนให้กับพรรคได้ จึงเป็นไปแทบไม่ได้ที่จะนัดแนะมวลชนให้มาร่วมชุมนุมกับม็อบ “จตุพร-ทนายนกเขา”

ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้จากที่ผ่านมา “มวลชนสีแดง” ที่มาเข้าร่วม “คณะหลอมรวมประชาชน” มีบางตา และส่วนใหญ่เป็น “แม่ยก” ของ “จตุพร” ส่วน “ทนายนกเขา” คือ อดีตกลุ่มก๊วน คปท.เก่า ซึ่งในการชุมนุมระหว่างปี 2556-2557 รู้กันดีว่าเป็นมวลชนสาย “ฮาร์ดคอร์” เป็นหลัก อีกนัยหนึ่งคือ เป็นเสมือนการ์ดให้การชุมนุมของ กปปส.

แม้ว่าปัจจุบันจะมี “กปปส.กลับใจ” จำนวนไม่น้อย แถมชื่อของ “ลุงตู่” แทบขายไม่ได้ใน กทม. และภาคอื่นๆ (ยกเว้นภาคใต้) ทว่าการระดมมวลชนอดีต กปปส.กลับใจมาร่วมม็อบนี้ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะติดภาพ “ฮาร์ดคอร์” แถมยังพ่วง “จตุพร” ซึ่งเป็นศัตรูตัวเอ้ของฝ่าย “อนุรักษนิยม” มาเป็นแกนนำร่วมอีก

แม้ว่าในช่วงหลัง “ม็อบจตุพร-ทนายนกเขา” จะร่วมมือกับ “สายวิชาการ” มากขึ้น ผ่านการดีลของ “เมธา มาสขาว” อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ปัจจุบันสวมหมวกอีกใบเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คลุกคลีตีโมงอยู่กับ “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” แกนนำกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกันจัดงานเสวนาด่ารัฐบาลแทบจะรายสัปดาห์

เช่นเดียวกับ กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “99 พลเมือง” เรียกร้องให้ นายกฯประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ 8 ปี โดยเทียบเคียงกับกรณี “ฎีกา 99” สมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

แม้ว่ากระแสกดดันวาระ 8 ปี “นายกฯบิ๊กตู่” จะร้อนแรง แต่ฟันธงได้เลยว่าม็อบที่จะจัดในวันที่ 21-24 ส.ค.นี้ คงแทบไม่มีพลังอะไรมากนัก 

เพราะ “ฝ่ายการเมือง” รู้กันดีอยู่แล้วว่า ช่วงเวลานี้คือ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่ แถมบทสรุปของเรื่องนี้อยู่ที่อำนาจวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงไม่จำเป็นต้องเอามวลชนเข้าไปสุ่มเสี่ยงให้โดนวินิจฉัยว่า “ล้มล้างการปกครอง” แต่อย่างใด