สภาฯ เพิ่มวันถกงบฯ66 จับตาการประชุมวันนี้ องค์ไม่ครบ-ประชุมล่ม หรือไม่

สภาฯ เพิ่มวันถกงบฯ66 จับตาการประชุมวันนี้ องค์ไม่ครบ-ประชุมล่ม หรือไม่

สภาฯ ต้องเพิ่มวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 วันนี้ หลังผ่าน 3 วันพิจารณาไปแค่ 24 มาตรา จับการประชุมจะรอดฝั่งหรือไม่ หลังส.ส.รัฐบาลคุยไม่ลงตัว-ฝ่ายค้านเล่นเกมองค์ประชุม

         ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ วาระพิจารณารร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท วาระสอง ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ นัดประชุมไว้ 17 - 19 สิงหาคม โดยล่าสุดเมื่อครบกำหนดดังกล่าวแล้ว การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ เพราะสามารถพิจารณาไปได้เพียง 24 มาตรา จากทั้งหมด 40 มาตราเท่านั้น 

 

         โดยการประชุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ได้ใช้เวลายาวนานล่วงเลยจนถึงเวลา 01.55 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม  ซึ่งระหว่างนั้นได้อภิปรายในมาตรา 24 งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้อภิปรายแล้วเสร็จและเตรียมลงมติ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกฯเข้าห้องประชุม เพื่อกดบัตรแสดงตนนับองค์ประชุม พร้อมกวาดสายตาดูรอบห้องประชุม ซึ่งระหว่างนั้นมีสมาชิกฯ แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องเครื่องเสียบบัตรระบบเช็คองค์ประชุม  โดยมีสมาชิกฯบางคนเสนอให้รีเซ็ตเครื่องใหม่ 

         ทั้งนี้นายสายันต์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นหารือว่า “ผมอยากทราบว่า ฝ่ายประชาธิปไตย มาประชุมแล้วไม่กดบัตรนี่” ซึ่งนายสายัณห์ยังพูดไม่จบ ทำให้นายสุชาติกดปิดไมโครโฟนของนายสายันต์ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของส.ส. ก่อนที่นายสุชาติ จะกล่าวว่า “ผมว่ามันดึกแล้วครับ พักการประชุม พรุ่งนี้นัดประชุมใหม่ 10.00 น.” จากนั้นนายสุชาติกดออดสั่งพักการประชุมในเวลา 01.55 น. ท่ามกลางความมึนงงของเหล่าบรรดาส.ส. บางคนบอกว่า “อยากได้ยินคำนี้มานานแล้วครับ”

 

         ขณะที่บางคนพยายามสอบถามว่าคำว่าพรุ่งนี้คือวันไหน เพราะวันนี้คือเช้าวันที่ 20 สิงหาคมแล้ว ทำให้นายสุชาติที่เดินออกจากบังลังก์ไปแล้วเดินย้อนกลับมาบอกว่า “วันนี้นะครับ”

 

         โดยการประชุมวันนี้ (20 สิงหาคม) ต้องจับตาถึงการเข้าร่วมประชุมของส.ส.ทุกพรรคว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้การขอความร่วมมือระหว่างวิปรัฐบาลยังคงมีปัญหา เนื่องจากเห็นไม่ตรงกัน โดยพรรคพลังประชารัฐต้องการทำให้เสร็จตามกรอบเวลาเพื่อไม่มีปัญหากระทบต่อการลงพื้นที่ของส.ส. ส่วนพรรคอื่นๆต้องการให้เพิ่มวันประชุมโดยไม่ใช้เวลาพิจารณายาวนานเกินไปจนร่างกายเหนื่อยล้า ขณะที่ฝ่ายค้านยังคงใช้เกมไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมเช่นเคย ดังนั้นต้องจับตาเรื่ององค์ประชุม และการประชุมล่ม.