“กฤษฎีกา” ชี้ ยกหนี้กยศ. ไม่ใช่ทางออก ทำผู้กู้ขาดวินัย เป็นปัญหาต่อในอนาคต

“กฤษฎีกา” ชี้ ยกหนี้กยศ. ไม่ใช่ทางออก ทำผู้กู้ขาดวินัย เป็นปัญหาต่อในอนาคต

“โฆษกรัฐบาล” เผย “กฤษฎีกา” ชี้ ยกหนี้กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหา ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยการเงิน ก่อปัญหาต่อในอนาคต แจง รัฐบาล เข้าใจ ได้เสนอแก้ไขการชำระ ผ่อนปรนให้สอดคล้องกับรายได้ ระบุ “นายกฯ” ห่วง สั่งช่วยอย่างเต็มที่ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี ให้อำนาจกองทุนฯ ปลดภาระผู้ค้ำ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์“ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ เพื่อให้ยกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม 2565) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่า “การยกหนี้กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร” โดยการชี้แจงดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. 

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อประเด็นนี้ และได้สั่งการเร่งให้การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. อย่างเต็มที่ครอบคลุมการลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี แก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านกลไกต่างๆ เช่น งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่กองทุน กยศ. ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึง การขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระเงินคืน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ และการที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ รวมถึงเสนอการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ กยศ. มาโดยตลอด นอกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ลดผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน และเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ ช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อนสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลคือ โอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของทรัพยากรบุคคล เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นายอนุชา กล่าว