เสี้ยวชีวิต “2 พระเอก” แห่งตำนาน จากเส้นทางมายา สู่สนามการเมือง

เสี้ยวชีวิต “2 พระเอก” แห่งตำนาน จากเส้นทางมายา สู่สนามการเมือง

เสี้ยวชีวิตพระเอก “สมบัติ เมทะนี” ก้าวสู่การเมืองในวัย 70 เป็นส.ว.เลือกตั้ง และสนช.แต่งตั้ง ประสบความสำเร็จทั้งวงการมายาและการเมือง ต่างจาก “มิตร ชัยบัญชา” ที่เล่นการเมืองสมัยหนุ่มฉกรรจ์ วัย 35 ปี แต่ต้องผิดหวัง เพราะมาก่อนกาล

สมบัติ เมทะนี” พระเอกผู้แสดงภาพยนตร์มากที่สุดในโลกถึง 650 เรื่อง เป็นพระเอกหนังไทยอีกคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จทั้งในโลกมายา และโลกการเมือง

การเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2549 สมบัติ เมทะนี ตัดสินใจเล่นการเมืองในวัย 70 ปี และได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 6 ได้ 53,526 คะแนน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ว.ได้ไม่นาน ก็เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

ที่น่าสนใจ เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้ง สมบัติ เมทะนี เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะตัวแทนกลุ่มวิชาชีพศิลปิน

ถัดมา เลือกตั้งทั่วไป ปี 2550 สมบัติ เมทะนี เข้าพรรคประชาราช ของเสนาะ เทียนทอง และได้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ลำดับที่ 1 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 

ต่อมาการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 สมบัติลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 102 ไม่ได้รับเลือกอีกหน

เมืองไทยมีดารานักแสดงมาเล่นการเมืองเยอะขึ้นในช่วงหลัง แต่ในอดีต ต้องบันทึกไว้ว่า “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกตลอดกาล เป็นคนแรกที่ลุยสมรภูมิเลือกตั้ง

“สมบัติ เมทะนี” ได้เห็นพระเอกรุ่นพี่ มิตร ชัยบัญชา เสนอตัวรับใช้ประชาชนในเวทีเลือกตั้ง แต่สอบตก จึงไม่ตัดสินใจเล่นการเมืองตอนวัยหนุ่ม

สำหรับ มิตร ชัยบัญชา เป็นดาราไทยคนแรก ๆ ที่สนใจการบ้านการเมือง ปี 2511 มิตร หรือชื่อจริง “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา” ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล จังหวัดพระนคร ในนามกลุ่มหนุ่ม เขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบ แต่ก็ไม่ได้รับเลือก

การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2512 พระเอกมิตร ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.จังหวัดพระนคร (เวลานั้น ยังแยกเป็น จ.พระนคร และ จ.ธนบุรี) ในนามผู้สมัครอิสระ

มิตรหาเสียงในชื่อ พิเชษฐ์ ชัยบัญชา เจอคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคสหประชาไทย ซึ่งผลเลือกตั้ง มิตรสอบตก

สาเหตุที่ มิตร ชัยบัญชา พระเอกยอดนิยมพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง มี 2 ปัจจัยคือ ประการแรก พระเอกมิตร ไม่ใช้ชื่อ มิตร ชัยบัญชา หาเสียง ชาวบ้านร้านถิ่นไม่รู้จัก พิเชษฐ์ ชัยบัญชา

ประการที่สอง หัวคะแนนของพรรคเก่าแก่ บอกชาวบ้านว่า ถ้าเลือกมิตรเป็นผู้แทน มิตรจะไม่มีเวลาเล่นหนังให้ดูกันอีก ชาวบ้านเลยไม่ลงคะแนนให้มิตร เพราะอยากเก็บพระเอกไว้ในโลกมายาเท่านั้น

ขณะที่ “สมบัติ เมทะนี” สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ ช่วงเยาว์วัย ก็ได้ยินเพลงปลุกใจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อโตเป็นหนุ่ม ได้เห็นบ้านเมืองยุคสงบราบคาบ สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์

หลัง 14 ตุลา ประชาธิปไตยเบ่งบาน นพ.กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรคพลังใหม่ เคยมาชวนให้ไปลงสมัคร ส.ส.อุบลฯ เพราะเขาเกิดที่ จ.อุบลราชธานี แต่ตอนนั้นงานแสดงหนังเยอะมาก ไม่มีเวลา

จริง ๆ แล้ว ดารานักแสดงบ้านเรา จะรู้จักมักคุ้นนักการเมืองไทยทุกพรรค เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ซึ่งปี 2529 สมบัติ ก็เคยไปช่วย สุรพันธ์ ชินวัตร อาของทักษิณ และเยาวลักษณ์ ชินวัตร พี่สาวของทักษิณ ที่ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่

สมบัติ เมทะนี ในวัย 50 ปี ก็มีชวนไปสมัคร ส.ก.ในนามพรรคประชากรไทย แต่เพื่อนฝูงบอกว่า รอไปสมัคร ส.ส.ดีกว่า แต่กฎหมายเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เลยมุมานะเรียนจนได้ใบปริญญา

ปี 2549 สมบัติ เปลี่ยนแผนลงสมัคร ส.ส. หันไปสมัคร ส.ว.กรุงเทพฯ “.. มีความคิดว่า ถ้าเราเป็น ส.ว.น่าจะดีกว่า เพราะเราถนัดกว่า เราเป็นคนที่พูดเก่ง มันเหมาะกับวัยวุฒิที่เรามีด้วย” พระเอกอมตะให้สัมภาษณ์นักข่าวผู้จัดการออนไลน์ หลังทราบผลเลือกตั้ง ส.ว.

นี่คือวิถีของ 2 พระเอก บนถนนการเมือง มิตร ชัยบัญชา เลือกเล่นการเมืองตอนอายุ 35 ปี ส่วนสมบัติ เมทะนี มานับหนึ่งตอนอายุ 70 ปี ที่ถูกจดจำเป็นตำนานพระเอกตลอดกาลของประชาชน