เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?

เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?

การลาออกจาก ส.ส. พลังประชารัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐสภาไม่เป็นที่พึ่งให้ประชาชน สะท้อนให้เห็นตัวตนว่า “มาดามเดียร์” ยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาด้วยกลไก “รัฐสภา” ดังนั้นพรรคการเมืองที่จะเข้าสังกัดต้องมีแนวคิดยึดมั่นกลไกรัฐสภา

เมื่อสมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ปล่อยให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตกไป ด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา ทำให้การประชุมล่ม ปิดฉากร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ที่การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 500 

การเล่นเกมการเมืองแบบไม่สนใจประชาชน ด้วยการไม่มาประชุมทำให้สภาล่ม ไม่ตรงกับทัศนคติของ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมชายคาพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป เพราะการเมืองที่ “มาดามเดียร์” ใฝ่ฝันต้องทำเพื่อประชาชน ไม่หักหลังประชาชน

อย่างไรก็ตาม “มาดามเดียร์” ประกาศเดินหน้างานการเมืองต่ออย่างแน่นอน เนื่องจากต้องการเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศ

แม้โอกาสจะกลับมานั่งเก้าอี้ ส.ส. หลังการเลือกตั้งรอบหน้าจะยากสักเท่าไร แต่ด้วยความชัดเจนทางการเมือง และพร้อมทำงานในสภา ชื่อของ “มาดามเดียร์” จึงดึงดูดให้พรรคการเมืองสนใจดึงตัวไปร่วมงาน

ทว่า “มาดามเดียร์” เอง มีสเปคพรรคการเมืองในใจอยู่แล้ว หากถอดรหัสระหว่างบรรทัด ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ระบุว่าตอนหนึ่งว่า “การต่อสู้ทางความคิดหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งบนถนนและในรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็ต่างใช้เวทีรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตน”
 

สะท้อนให้เห็นตัวตนว่า “มาดามเดียร์” ยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาด้วยกลไก “รัฐสภา” ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดยึดมั่นกลไกรัฐสภา ไม่มี ส.ส. โดดประชุม จึงอยู่ในตัวเลือกของ “มาดามเดียร์” อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น

“มีฐานเสียงในกทม.” เป็นจุดขายหนึ่งของ “มาดามเดียร์” ซึ่งที่ผ่านมาลงพื้นที่ทำกิจกรรมหลายครั้ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีในระดับหนึ่ง ฉะนั้นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในกทม. จึงอยู่ในความสนใจ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล เป็นต้น รวมถึงพรรคเกิดใหม่ที่ชูนโยบายแก้ปัญหาให้คนกทม. อาทิ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย 

“พรรคที่ไม่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง” เนื่องจาก “มาดามเดียร์” ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากพรรคการเมืองใดสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสุดโต่ง อาจจะไม่อยู่ในสเปค

“พรรคที่ไม่สืบทอดอำนาจทางการเมืองของขั้วใดขั้วหนึ่ง” เนื่องจากการ “สืบทอดอำนาจ” ของขั้วการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสืบทอดอำนาจทางทหาร หรือสืบทอดอำนาจจากตระกูลการเมือง เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ฝังลึกในสังคมไทย

เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?
 

สำหรับ "มาดามเดียร์" จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 61 จากนั้นได้ผันตัวเข้าสู่วงการธุรกิจด้วยการเป็นผู้บริหารสถานีดิจิทัลทีวี 

ต่อมาในปี 2559 "มาดามเดียร์" ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนบทบาท ได้ปรากฎตัวในแวดวงการกีฬา โดยได้รับแต่งตั้งจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี

ต่อเนื่องมาถึงปี 2560  "มาดามเดียร์" ได้ทำหน้าที่เป็น ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย

เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?

หลังจากนั้นในปี 2561 ชื่อของ "มาดามเดียร์" ก็กลับมาได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวได้ ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคของพลังประชารัฐ ( พปชร.) ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 

ทั้งนี้หลังจากการเลือกตั้งในปี 2562 และภายหลังการเลือกตั้งซ่อม เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ โดย พรรคพลังประชารัฐได้รับ 27,861 คะแนน ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่ม 1 คน ดังนั้น "มาดามเดียร์" ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 19 จึงเลื่อนเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 

บทบาททางการเมือง ในฐานะ ส.ส. ก็เรียกได้เป็นหน้าใหม่ที่ถูกจับตามอง เนื่องจากมีจุดยืนและมีอุดมณ์การทางการเมืองที่ชัดเจน โดยยึดหลักเหตุและผล ความถูกต้อง และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักมาโดยตลอด

เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นส.ส. สังกัดพรรคแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อเห็นว่ายังไม่ถูกต้องก็ไม่ได้หูหลับตา ที่จะเห็นด้วยกับฝั่งรัฐบาลเสมอไปในทุกเรื่อง 

เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?

พร้อมกันนี้ยังกล้าท้าทาย กับกระแสการเมือง แม้ว่าจะเป็นส.ส. ในซีกของรัฐบาล แต่กล้างดออกเสียงลงมติให้รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในปี 2564 คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย 

โดยใช้เหตุผลว่า "ตลอดการอภิปรายและการชี้แจง ไม่พบคำชี้แจงที่ชัดเจนเพียงพอ ในการตอบคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน และทำให้สังคมตั้งข้อกังขา  ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนเงื่อนไขและการล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และข้ออภิปรายเรื่องการไม่ปกป้อง หรือเรียกคืนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นที่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจน"

ล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งสุดท้ายในรัฐบาลชุดนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา "มาดามเดียร์" ก็ยังย้ำจุดยืนเช่นเดิม โดยงดออกเสียงให้กับนายศักดิ์สยาม ในกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน เปิดประเด็นเพิ่มเติมกรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากได้ปรากฎหลักฐานที่ครอบครัว และบริษัทในกลุ่มเครือญาติ ถือครองที่ดินของการรถไฟเพิ่ม 

รวมถึงกรณี หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่นายศักดิ์สยาม ยังตอบไม่ชัดเจน ในการเคลียร์ตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว ตามที่พรรคก้าวไกลอภิปรายกล่าวหา ว่ามารับจ้างเหมาสัมปทาน และเป็นคู่เทียบในการประมูลงานภายในกระทรวงคมนาคมนั่นเอง 

อีกทั้ง ยังงดออกเสียงให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีเหตุผลใกล้เคียงกัน คือการชี้แจง ยังมีข้อคำถามในหลายประเด็น พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า "ได้ตัดสินใจบนข้อมูล ไม่ได้นำความรู้สึกตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง" แต่อย่างใด

นอกจากนี้ มาดามเดียร์ยังได้อภิปราย ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในประเด็นการใช้งบประมาณเงินกู้ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ในพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขจากกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ถึงการใช้จ่ายเงินด้านสาธารณสุขจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทในพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พบว่ามีวงเงินที่อนุมัติไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 57% 

โดยมีการเบิกใช้จ่ายไปแล้วแค่ 7,000 กว่าล้านบาท ที่สำคัญในจำนวนเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่ถูกนำไปใช้จัดสรรวัคซีนแค่ 2,700 ล้านบาท หรือ 6% เท่านั้น  ชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการใช้งบประมาณล่าช้า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วมาเร่งเอาภายหลังในวันที่สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ไม่มีคาดการณ์หรือวางแผนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ  ถือว่าเป็นการอภิปรายที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อม จนทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจงเร่งด่วนเลยทีเดียว  

นอกจากนี้ หากย้อนไปในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ที่ประเทศไทยได้เกิดการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ที่มาจากปัญหาทางการเมือง โดยมีกลุ่มเยาวชนลุกขึ้นรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ การเรียกร้องให้มีการปฎิรูปถึงสถาบัน รวมถึงการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี จนเกิดปรากฎการณ์แฟลชม็อบ ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การชุมนุมดังกล่าวเหมือนไฟลามทุ่ง ลุกลามบานปลาย ทั้งมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง "มาดามเดียร์" เป็น ส.ส.ในซีกของรัฐบาลอีกคน ที่ลุกขึ้นมาใช้ช่องทางผ่านกลไกของสภาฯ ร่วมอภิปรายเสนอแนะแนวทางเพื่อหาทางออกประเทศ

โดยระบุว่า"รัฐบาลควรเปิดพื้นที่หรือเวทีกลางทั้งในและนอกสภาควบคู่กันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางตรงจากทั้งสองฝ่ายระหว่างรัฐและประชาชน โดยข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลที่สังคมยอมรับ เพื่อหาจุดสมดุลที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ทั้งยังเสนอให้รัฐ กลับมาพิจารณาตั้งแต่โครงสร้างของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดต้นตอของสาเหตุ”
เปิดสเปค “มาดามเดียร์” ไปต่อกับพรรคไหน ?
การทำงานหลายเรื่องในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะของส.ส. เจ้าตัวยังคงคอนเซ็ปเดิมอยู่เสมอ คือ ยึดหลักเหตุและผล ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเปิดกว้างทางความคิด เช่น การร่วมโหวตกฎหมายที่สำคัญต่อกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับของพรรคก้าวไกล ซึ่งถือเป็นการสวนมติวิปรัฐบาล 

นอกจากนี้ ยังร่วมลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. …หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า วาระที่ 1 รับหลักการ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวในการพลิกโฉมวงการสุราของไทย

นอกจากนี้ ยังร่วมแก้ไขปัญหา  และหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ "บริษัทเพย์พาล ประเทศไทย จำกัด" ปรับเปลี่ยนนโยบายการโอนเงินข้ามประเทศให้กับผู้ใช้งานทั่วไปผ่านระบบ "เพย์พาล" อีกด้วย 

อีกประเด็น ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เนื่องจาก "มาดามเดียร์" ถือได้ว่าเป็นส.ส. คนแรกที่ลุกขึ้นมาพูดถึงและผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนและพัฒนา Soft power ซึ่ง "มาดามเดียร์" พยายามอย่างหนักที่จะส่งพลังให้ภาพยนต์ไทย กลายเป็น Soft power เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนต์ระดับโลก

โดยต้องสร้าง Content  เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยสอดแทรกในภาพยนตร์ เพื่อเป็น  Soft Power สร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเสนอตั้งกองทุนยุทธศาสตร์ Soft Power ตั้งสถาบันผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ผลิต 40% ในส่วนที่คาดว่าจะขาดทุน เพื่อให้ผู้ผลิตนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนกับบทและโปรดักชั่นต่อ 

จากที่กล่าวเบื้องต้นมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชน ในสภาฯ แต่เมื่อว่างเว้นภารกิจแล้ว "มาดามเดียร์" พร้อมทีม ส.ส. กลุ่มดาวฤกษ์ ที่ประกอบด้วย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร และ น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.บางซื่อ-ดุสิต

ซึ่ง "มาดามเดียร์" เปิดเผยว่า จุดเริ่มแรกของการรวมกลุ่ม มาจากความคุ้นเคยตั้งแต่ลุยหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ผ่านด่านเข้าสภาทุกคนล้วนเป็น ส.ส.หน้าใหม่ อายุอานามไล่เลี่ยกัน สร้างความผูกพันและสนิทสนมผ่านภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ในหลายจังหวะหยิบยกปัญหาในพื้นที่ กทม.ขึ้นมาหารือ เพื่อแชร์ข้อมูลและความเห็นจัดการปัญหา ให้กับคนกรุงเทพมหานครโดยยึดประชาชนเป็นหลัก โดยหวังว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ดังนั้นหากรวมกันเยอะๆก็เปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

ทั้งหมดคือผลงานและสเปคพรรคการเมืองในอุดมคติของ “มาดามเดียร์” ซึ่งจะเลือกเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน