"นายกฯ" พอใจ เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง 2.5%

"นายกฯ" พอใจ เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง 2.5%

"ไตรศุลี" เผย "นายกฯ" พอใจเศรษฐกิจไทย ไตรมาส2 โตต่อเนื่อง 2.5% ขันน็อตทุกหน่วยงานผลักดันครึ่งหลังของปีทั้งการลงทุน ส่งออก ท่องเที่ยว พร้อมกับดูแลภาคเกษตร หนี้สินครัวเรือน มอนิเตอร์เตรียมมาตรการรองรับโลกผันผวน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบจากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถึงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่2 (เม.ย.-มิ.ย) ปี2565 ที่ขยายตัวได้ 2.5% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่1 ที่ 2.3% ทำให้ครึ่งแรกของปี2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 2.4% 

“นายกรัฐมนตรีพอใจที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องมาได้ 3 ไตรมาสแล้ว เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่4/64 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด19 ในทิศทางเดียวกับต่างประเทศที่กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ แต่เศรษฐกิจระยะต่อไปยังมีความท้าทาย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายด้วยแผนการจัดการเศรษฐกิจที่วางไว้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงแม้สถานการณ์โควิด19 จะคลี่คลายลง โดยเฉพาะจากกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ได้สร้างความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน วัตถุดิบการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามทุกปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิดและมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการเตรียมแผนและมาตรการเพื่อสนองตอบแต่ละสถานการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศ ไปพร้อมกับการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตให้ได้ตามเป้าหมาย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนงานที่จัดเตรียมไว้แล้ว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวของกับการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยติดตามดูแลกลไกการตลาดและราคาสินค้าและการดูแลประชาชนโดยเน้นการพุ่งเป้าที่กลุ่มเปราะบาง การดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือนและเอสเอ็มอีในช่วงดอกเบี้ยที่กำลังปรับขึ้น ดูแลการผลิตภาคการเกษตรที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการเพื่อป้องกันปัญหาจากอุทกภัย

รวมถึงส่วนที่ต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะต่อไป อาทิ ผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การสร้างตลาดใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ  ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรับกับการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด19คลี่คลาย เร่งรัดการลงทุนโครงการของรัฐและโครงการของเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง และเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดพร้อมกับประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย