"พรเพชร" ปัดข่าว "ส.ว." ถูกล็อบบี้ให้โดดประชุมรัฐสภา พรุ่งนี้

"พรเพชร" ปัดข่าว "ส.ว." ถูกล็อบบี้ให้โดดประชุมรัฐสภา พรุ่งนี้

"พรเพชร" บอกส.ว. พร้อมเข้าประชุมรัฐสภา ปัดกำชับให้ต้องมาประชุม พร้อมปัดประเมินทิศทางร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง บอก ฐานะรองประธานรัฐสภา งดออกเสียง

        นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา  ปฏิเสธต่อกระแสข่าวการชักชวน ส.ว. ไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 สิงหาคม ระบุว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เข้าใจว่าส.ว.จะมาร่วมประชุม ทั้งนี้ไม่มีประเด็นใดที่ต้องกำชับให้เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากการประชุมวุฒิสภในวันนี้ (9 สิงหาคม) ตนไม่ได้กำชับให้ส.ว.ร่วมประชุม แต่ขอร้อง และขอความร่วมมือให้  ส.ว.ช่วยพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ  2 ฉบับ  โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญและผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการขยายเวลาการประชุมจนจะหมดแล้ว และวันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลาในร่างกฎหมายดังกล่าว  

 

        เมื่อถามว่า หากการรัฐสภา วันที่ 10 สิงหาคม ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ จะเกิดข้อครหา ต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกส.ว.หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า "เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นหน้าที่ของประชาชนที่เขาจะเข้าใจ และเป็นหน้าที่ของผู้ที่ไม่มาร่วมประชุมจะต้องชี้แจงว่าเขา มีเหตุผลอะไร ไม่ใช่หน้าที่ที่ผมจะต้องไปไต่สวนลงโทษ อะไรใคร" 

         เมื่อถามย้ำว่าหากร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ.. ทำไม่เสร็จจนเกินกรอบ 180 วัน ทางการเมืองถือว่ามีความผิดหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า  ตนคงพูดอะไรไม่ได้ ทั้งในเรื่องทางการเมืองและในเรื่องความผิด เพราะตนไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ แต่การประเมินการทำงานของ ส.ว. เป็นเรื่องของประชาชน  ส่วนกรณีที่ ส.ว. ขาดประชุมโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่แจ้งล่วงหน้าไม่ถือเป็นความผิด  แต่สมาชิกที่ขาดการประชุม หากขาดการประชุมเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนการประชุม ก็จะพ้นสภาพการเป็นสมาชิก หากไม่มีขออนุญาต 

 

          "การพิจารณาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง จะเสร็จหรือไม่ผมไม่สามารถยืนยันได้ และตอบไม่ได้ว่าร่างกฎหมายจะออกมาในรูปแบบใด เพราะขึ้นอยู่กับส.ว.และส.ส. ที่จะเป็นเสียงชี้ขาด เพราะประธานและรองประธานจะงดออกเสียงทุกครั้ง" นายพรเพชร กล่าว 

 

        ขณะที่นายคำนูณ  สิทธิสมาน  ส.ว. กล่าวโดยเชื่อมั่นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือการประชุม เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาที่ผ่านมาส.ว.ความร่วมมือค่อนข้างมาก  ส่วนการเดินหน้าร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. จะทำได้หรือไม่ ตนมองว่าต้องเข้าใจในสถานการณ์ด้วยว่าเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมือง ที่จะไม่ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

 

           "ส่วนตัวเคารพผู้ที่แสดงความคิดเห็นในรูปแบบนี้ แต่ก็เห็นว่าหากไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแม้ผ่านวาระ3 ไปแล้วก็ยังไม่ได้สิ้นสุดเพราะมีขั้นตอนที่ต้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง  ให้ความเห็นกลับมาอีกครั้งและสมาชิกรัฐสภาก็มีโอกาสที่จะตัดสินใจได้อีกครั้งหนึ่ง หรืออีกช่องทางหนึ่งคือก่อนที่จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ก็ยังมีช่องทางที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้" นายคำนูณ กล่าว

 

 

        นายคำนูณ กล่าวด้วยว่าหากการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 สิงหาคม ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบเชื่อว่าประชาชนจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องชี้แจงเหตุผล และเร่งกู้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาเพื่อความวัฒนาถาวรของระบบรัฐสภา นอกจากนี้หากเกิดกรณีที่สมาชิกบางคนขาดโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่ได้แจ้งล่วงหน้าอาจมีการยื่นร้อง เรื่องผิดจริยธรรมได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้น.