“นายกฯ” สั่ง ควบคุมการระบาด “ฝีดาษลิง” คาดวัคซีนเข้ามาปลายเดือน

“นายกฯ” สั่ง ควบคุมการระบาด “ฝีดาษลิง” คาดวัคซีนเข้ามาปลายเดือน

“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายกฯ” เกาะติด “ฝีดาษลิง” ใกล้ชิด สั่งหาทางป้องกัน ควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ระบาดวงกว้าง แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง คาด วัคซีนนำเข้าได้ปลาย ส.ค.นี้ ระบุ หากฉีดเร็วมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานรไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนฯ แล้ว แต่ยังคงต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนฯ เบื้องต้น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ และ2.กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน (Post-exposure) ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (RO) ซึ่งกรณีฝีดาษลิง 2022 มีค่า RO ประมาณ 1 – 2 ซึ่งหมายความว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เพียง 1-2 คน ทำให้คาดคะเนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษวานรได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับค่า RO ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย Omicron BA.1 มีค่า RO อยู่ที่ 8.2 และ Omicron BA.2 อยู่ที่ 12

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และชาวไทย 2 ราย โดยจากการเฝ้าระวังติดตามอาการพบว่าอาการป่วยไม่รุนแรงแม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2 – 4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง หรือสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ กับผู้ป่วย

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเน้นย้ำการป้องกันตนเอง โดยการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ และหากสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษวานรสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 รวมทั้งติดตามข่าวสารจากหน่วยงานรัฐและแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ” นายธนกร กล่าว