วัดชีพจร "ประยุทธ์ - รัฐบาล" เดิมพัน "3 ด่าน" วัดใจ

วัดชีพจร "ประยุทธ์ - รัฐบาล"  เดิมพัน "3 ด่าน" วัดใจ

“3 ด่าน”สำคัญ ที่ต้องลุ้นว่าที่สุดแล้วจะกลายเป็น "บันได3ขั้น" เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ หรือที่สุดจะเป็นเพียงแค่ “ยอดพีรามิด” ที่ค่อยๆ ทลายลง จากแรงสั่นสะเทือนที่อยู่เบื้องล่าง?

“เวลาที่เหลืออยู่ก็ให้ทำงานให้เร็วขึ้นแล้วก็ปลอดภัย สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็เท่านั้น ผมก็ย้ำมาตลอดตั้งแต่วันแรก 7 ปีที่ผ่านมา ให้มีการติดตามสืบหา ถ้ามีเรื่องไหนที่ไม่ชอบมาพากล มีเรื่องร้องเรียนสั่งให้หยุดการกระทำ ผมก็หยุด ไม่ใช่เขาบอกให้หยุดแล้วไม่หยุด มันก็มีเรื่องต่อไปเท่านั้นเอง ผมก็หยุดเท่านั้นเอง”

ส่วนหนึ่งจากคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.พูดถึงภาพรวมหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งสุดท้ายใน “รัฐบาลประยุทธ์” รวมถึงทิศทางการเมืองหลังจากนี้

ต้องยอมรับว่า  “ชีพจรการเมือง” หลังผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ยามนี้ตัว พล.อ.ประยุทธ์เสมือนตกอยู่ในสภาวะที่ต้องลุ้น “3 ด่านวัดใจ”

ด่านแรก คือ “เสถียรภาพภาพรัฐบาล”  อันจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง สะท้อนภาพจากผลคะแนนซักฟอก ที่ปรากฎภาพการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งความพยายามในการเขย่าสัมพันธ์ภาพ “พี่น้อง 3 ป.” ทวงคืนโควตารัฐมนตรี

โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.ของ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  ตามมาด้วยกระแสเรียกร้องให้มีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่

ยังไม่นับรวมศึกที่ลามเป็นรอยร้าวภายในขั้วรัฐบาล ที่เปิดฉากฟาดฟันทั้งศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดกรณี “6 ส.ส.” สมุทรปราการโหวตสวน 2 รัฐมนตรีในศึกซักฟอก

หรือศึกระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” ในกรณี 3 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา โหวตสวนมติพรรค “งดออกเสียง” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อนถึงแกนนำ 2 พรรคที่ต้องเคลียร์ใจกันอย่างเร่งด่วน

ยังไม่นับรวมศึกภายนอกที่ยามนี้รายล้อมรอบตัวพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล

ขณะที่ ด่านที่สอง คือ กติกาเลือกตั้ง ทั้งเป็นเรื่องกฎหมายลูก ยามนี้บรรดาพรรคการเมืองงัดสารพัดกลเม็ดในการการช่วงชิงความได้เปรียบ โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 ที่ล่าสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติถอนร่างดังกล่าวกลับไปพิจารณาใหม่

หรือในส่วนของกฎหมายหลักอย่างรัฐธรรมนูญที่แม้ในปัจจุบัน “รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข” ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ ณ เวลา จะบัญญัตติให้ใช้ “บัตร 2 ใบ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

ทว่า ด้้วยกลเกมที่เกิดขึ้นเวลานี้บวกการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ ยังคงมีความพยายามในการ “ล็อบบี้เสียง” ฝั่งรัฐบาล เพื่อใช้เทคนิคเสนอร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งฉบับเพื่อคว่ำโมเดลบัตร 2 ใบ ซึ่งมีผลอยู่ในเวลานี้ เปิดทางกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หวังผลไปถึงการต่อท่ออำนาจรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ 

ท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้น ว่ารัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดกติกาบัตร2ใบมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ยังไม่ทันจะมีการเลือกตั้งกติกาเลือกตั้งที่ยกร่างมาก็เป็นอันต้องแท้งเสียแล้ว จะเอากันเช่นนี้กันจริงหรือ?

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องติดตามอุณหภูมิการเมืองหลังจากนี้ที่น่าจะร้อนแรงทั้งศึกในและนอกสภาอย่างแน่นอน 

ด่านที่ 3 คือ “เส้นตาย 8 ปี” การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามบทบัญญัติมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านตั้งป้อมในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในเดือนนี้ 

โดยประเด็นนี้ มีการตีความที่แตกออกเป็น 3 แนวทาง 

1.นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาล คสช.ในเดือน ส.ค.2557 เท่ากับว่า จะครบ 8 ปีในเดือนวันที่ 24ส.ค.2565 หรืออีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้

2.นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย.2560 เท่ากับว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปสิ้นสุดในปี 2568

และ 3.นับตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2562 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ เท่ากับว่า สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปสิ้นสุดในปี 2570

จากนี้จึงต้องติดตามว่า ที่สุดแล้ว “3 ด่าน”สำคัญ ที่เป็นเสมือน "บันได 3 ขั้น" ในการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือที่สุดจะเป็นเพียงแค่ “ยอดพีรามิด” ที่ค่อยๆ ทลายลง จากแรงสั่นสะทือนที่อยู่เบื้องล่างกันแน่