พลิกมหากาพย์ “สินบนโรลส์-รอยซ์” 3 ยุค เปิดสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.ก่อนฟัน “ทนง”

พลิกมหากาพย์ “สินบนโรลส์-รอยซ์” 3 ยุค เปิดสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.ก่อนฟัน “ทนง”

ขุดมหากาพย์คดี “สินบนโรลส์-รอยซ์” 3 ยุค วงเงิน 1.2 พันล้านบาท หมดอายุความไป 2 เหลือสอบได้แค่ยุค “ทักษิณ” พบมี “บิ๊กการบินไทย” ดีลกับ “โรลส์-รอยซ์” ก่อนจัดซื้อเครื่องยนต์ติดตั้งบนเครื่องบินโบอิง 777-200ER

เรียกได้ว่ารูดม่านปิดฉากภาคแรกไปแล้ว สำหรับมหากาพย์คดีทุจริตการให้สินบนเพื่อซื้อเครื่องยนต์ “โรลส์-รอยซ์” ติดตั้งบนเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทกับพวก ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา

โดย นายทนง และนายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายการบินไทย ถูกชี้มูลความผิดทางวินัย และอาญา ตามมาตรา 8 และ 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 

อย่างไรก็ดี มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขาดอายุความในคดีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงเหลือแค่ความผิดตาม มาตรา 8 คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ เช่น นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบาย และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย มีความผิดทางวินัยร้ายแรง อย่างไรก็ดี นายกนก เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และบางรายพ้นข้อกล่าวหา

ขั้นตอนหลังจากนี้คือ ส่งสำนวนให้แก่อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป

อ่านข่าว: 

เลขาฯ ป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลผิด “ทนง-พวก” คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ล็อต 3

“ทนง” สู้ต่อ ยาวแน่! หลัง ป.ป.ช.ฟันคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ บางคนผิดวินัย-รอด

สำหรับเงื่อนปมที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลผิดนั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งบนเครื่องบินโบอิง 777-200ER และกระทำการใดๆ เพื่อให้บริษัทโบอิงฯ เสนอขายเครื่องบินดังกล่าวที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เพียงยี่ห้อเดียว รวมถึงจงใจหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาคัดเลือกเครื่องยนต์โดยเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นเพื่อติดตั้งกับเครื่องบินโบอิงดังกล่าว

สำหรับคดีสินบนโรลส์-รอยซ์นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ยุค รวมวงเงิน 1.2 พันล้านบาท ได้แก่ 

  • ยุคแรก ระหว่างปี 2534-2535 วงเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในช่วงเวลาดังกล่าวราว 663 ล้านบาท
  • ยุคสอง ระหว่างปี 2535-2540 วงเงิน 10.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 336 ล้านบาท
  • ยุคสาม ระหว่างปี 2547-2548 วงเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นไทย 254 ล้านบาท

โดยยุคแรก และยุคที่สอง คดีขาดอายุความไปหมดแล้ว ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงดำเนินการไต่สวนได้แค่ยุคที่ 3 โดยคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล “ทนง พิทยะ” กับพวกนั้น คือ กรณีที่เกิดขึ้นในยุคที่ 3

ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ระบุว่า คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ในยุคที่ 3 เริ่มมีการหารือตั้งแต่ปลายปี 2539 แต่เริ่มดำเนินการจริงประมาณปี 2547 โดยบอร์ดการบินไทย เตรียมจัดซื้อเครื่องบิน B777 และเครื่องยนต์ T-800 พร้อมอะไหล่สำรอง T-800 โดยช่วงระหว่างปี 2547 มีนายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดการบินไทย นายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย

ต่อมาในเดือนพ.ย. 2547 โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายค่านายหน้าเพิ่มเติม และมีการนัดประชุมระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย และเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลไทย กระทั่งปลายเดือน พ.ย.2547 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (2) มีมติอนุมัติจัดซื้อตามข้อเสนอของการบินไทย ต่อมาในเดือน ธ.ค.2547 มีการนัดกินข้าวกันระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการรายหนึ่ง กระทั่งเดือนม.ค.2548-มิ.ย.2549 บริษัท การบินไทย มีมติจัดซื้ออะไหล่สำรอง และลงมติรับรองการจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800

อย่างไรก็ดีในสำนวนการไต่สวนในชั้นองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 11 ราย (เสียชีวิตระหว่างไต่สวน 1 ราย เหลือ 10 ราย) สรุปข้อเท็จจริงในคดีได้ ดังนี้

ระหว่างเกิดเหตุคือ ระหว่างปี 2547-2548 นั้น ผู้บริหาระดับสูงรายหนึ่งในการบินไทย ได้ทำการร้องขอให้บริษัท โบอิง (The Boeing Company) พัฒนาและเสนอเครื่องบินโบอิงแบบ B777-300 และ B777-200 โดยบริษัท โบอิง แจ้งว่า คำร้องขอดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจเนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุน และแนะนำให้ซื้อเครื่องบิน B777-300ER ใหม่ หรือ B777-200LR ซึ่งจะตรงต่อความต้องการของการบินไทยมากที่สุด

ต่อมาบริษัท โบอิง เสนอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการขึ้นสูงสุด (MTOW) สำหรับเครื่องบิน B777-300 ให้เป็น 666,000 ปอนด์ ด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 8892 อาจะได้ในราคา 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือการบินไทยอาจเลือกที่จะซื้อเครื่องบิน B777-200ER ในน้ำหนักการขึ้นที่ต่ำสุดที่ 5.8 แสนปอนด์ ด้วยเครื่องยนต์ TRENT 884 หรือ น้ำหนักการขึ้นสูงสุดที่มากกว่า 6.5 แสนปอนด์ หากได้รับการร้อง บริษัท โบอิง จะส่งข้อเสนอให้แก่การบินไทย

หลังจากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจการบินไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางรายนั่งเป็นกรรมการ เพื่อจัดทำแผนวิสาหกิจของการบินไทย และคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจการบินไทย ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นอนุกรรมการด้วยหลายราย

ต่อมาในช่วงกลางวันของวันที่ 21 ก.ค.2547 ผู้บริหารของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ปรึกษาของบริษัท โบอิง ในประเทศไทย ถูกเรียกให้ไปพบ ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง เพื่อพูดคุยสอบถามและเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายเครื่องบินโบอิงแบบ B777-200ER โดยแจ้งให้บริษัท โบอิง ใช้อำนาจที่มีเหนือบริษัท โรลส์-รอยซ์ และทำให้มั่นใจว่าราคาเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ และราคาชิ้นส่วนเครื่องยนต์นั้นสมเหตุสมผล

แต่ที่ปรึกษาบริษัท โบอิง ได้แย้งว่า เนื่องจากการบินไทยเลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ เอง และควรที่จะมีอำนาจเจรจาต่อรองกับผู้จำหน่ายโดยตรง นอกจากนี้บริษัท โบอิง ไม่มีอำนาจควบคุมโรลส์-รอยซ์ ในการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้บริหารการบินไทยรายนี้ ยืนกรานให้บริษัท โบอิง สนับสนุนคำขอดังกล่าว โดยบริษัท โบอิง มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงรายนี้ว่า การเพิ่มน้ำหนักขึ้นสูงสุด (MTOW) ของเครื่องบิน B777-200 ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน กรณีต้องการให้บริษัท โบอิง สนับสนุนและช่วยเหลือเกี่ยวกับโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่ติดตั้งกับเครื่องบิน B777 ของการบินไทย เพื่อให้การจัดทำราคาและอัตราต่างๆ สมเหตุสมผลนั้น บริษัท โบอิง ยินดีให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

หลังจากนั้น โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย และบอร์ดการบินไทยบางราย เพื่อเสนอขายเครื่องยนต์ TRENT 884 ติดตั้งเครื่องบินโบอิง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินดังกล่าว โดยราคาเครื่องยนต์ TRENT 884 สำหรับติดตั้งเครื่องบินเมื่อหักส่วนลดแล้วมีราคาอยู่ที่ 19.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 ที่ตกแต่งแล้วมีราคาอยู่ที่ 14,968,848 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเครื่องยนต์

อย่างไรก็ดีประเด็นนี้เคยถูกบอร์ดการบินไทยรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า ในการเสนอขายเครื่องบินแบบ B777 (B777-200/300/200ER) ให้แก่การบินไทยตั้งแต่ปี 2534-2546 บริษัท โบอิง จะนำเสนอยี่ห้อ และรุ่นของเครื่องยนต์ ที่เสนอมากกว่า 1 ยี่ห้อให้การบินไทยเลือกติดตั้งกับ B777 หากมีการสั่งซื้อเครื่องบิน โดยในการเลือกเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน (Engines on Wing) การบินไทย จะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งเครื่องบินใหม่ตามแผนวิสาหกิจของบริษัท ซึ่งถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีต

ทว่าในขั้นตอนการลงนามจัดซื้อนั้น คณะกรรมการกำกับกลยุทธ์การบินไทย ที่มีผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย ได้ประชุมกันโดยเร่งรัดให้ฝ่ายบริหารดำเนินการจัดหาเครื่องบินตามแผนพัฒนาฝูงบินดังกล่าวโดยเร็ว แต่กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท และฝ่ายบริหาร ดำเนินการจัดหาเครื่องยนต์ที่จะใช้ติดตั้งกับเครื่องบินตามแผนจัดหา โดยทำการเปรียบเทียบข้อเสนอการขายบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการบินไทย

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2547 โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง เสนอขายเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ TRENT 500 จำนวน 5 เครื่องยนต์ (รวม 7 เครื่องยนต์) สำหรับเครื่องบิน A340 จำนวน 10 ลำ (จัดหาแผนเดิม จำนวน 8 ลำ แผนใหม่ 2 ลำ) และ TRENT 884 จำนวน 2 เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ พร้อมจัดส่งร่างบันทึกข้อตกลงให้พิจารณา

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ผู้บริหารการบินไทยบางราย ได้ติดต่อเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบิน A340-500/600 และเครื่องบิน B777-200ER กับโรลส์-รอยซ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปราฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองพิจารณาคัดเลือกตัดสินเพื่อดำเนินการจัดหาตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุฯ

ต่อมา มีการเสนอขออนุมัติแผนเส้นทางบิน และฝูงบินระยะยาวดังกล่าว ต่อบอร์ดการบินไทย ซึ่งมีหลายรายตกเป็นผู้ถูกล่าวหาในคดีนี้ มีมติสำคัญคือ เห็นชอบให้จัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ประกอบด้วยแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ แอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ โบอิง B777-200ER จำนวน 6 ลำ วงเงิน 96,355 ล้านบาท

ก่อนที่จะมีการเสนอเรื่องต่อบอร์ดการบินไทยเพื่อให้ตอบ MOA ของโรลส์-รอยซ์ ในการจัดหาเครื่องยนต์ โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติตามข้อเสนอ และมีมติให้ผู้บริหารระดับสูงลงนามใน MOA ดังกล่าวได้ 

โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าในรายงานการประชุมเรื่องตามวาระดังกล่าว มีการระบุหัวข้อเป็น MOA เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT 500 และ TRENT 892 จากโรลส์-รอยซ์ และระบุรุ่นเครื่องยนต์เป็น TRENT 892 

ในขณะที่ระเบียบวาระการประชุม และเอกสารการประกอบพิจารณาระบุเป็น TRENT 884 รวมทั้งราคาเครื่องยนต์ที่ขอเสนออนุมัติยังเป็น TRENT 884 อันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่สำหรับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ ให้แก่การบินไทย

หลังจากนั้นเมื่อ 21 ต.ค. 2547 ผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยได้ลงนาม MOA กับโรลส์-รอยซ์ สั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT 500 สำหรับเครื่องบิน A340-500/600 จำนวน 5 เครื่องยนต์ และ TRENT 892 สำหรับ B777-200ER จำนวน 2 เครื่องยนต์

หลังจากนั้นมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยได้รับการยกเว้นปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ.2528 และอนุมัติให้ดำเนินการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 2005/05-2009/2010 จำนวน 14 ลำ วงเงิน 96,355 ล้านบาท ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องบินกับบริษัทผู้ขายจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยช่วงเดือนธ.ค.2547 ผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยได้ลงนามตามการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค.2548 ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง ลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ TRENT 500 กับ โรลส์-รอยซ์ 

หลังจากนั้นเมื่อ 15 มิ.ย. 2549 ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยบางราย ได้ลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ TRENT 892 กับ โรลส์-รอยซ์ พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขาย ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2

ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนามุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เอื้ออำนวยแก่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาขายเครื่องยนต์ จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 11 ราย

กระทั่ง 18 ก.ค.2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากชี้มูลความผิดนายทนง กับพวกรวมหลายราย แต่บางรายโดนแค่ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งแทบไม่ส่งผลอะไรเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งมานานมากแล้ว บางรายรอดพ้นข้อกล่าวหาไปด้วย

นับเป็นอีกคดีมหากาพย์ที่ยังค้างคาใจสาธารณชน จนกว่า ป.ป.ช.จะแถลงชี้แจงอย่างเป็นทางการ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์