“ทนง” สู้ต่อ ยาวแน่! หลัง ป.ป.ช.ฟันคดีสินบนโรลส์รอยซ์ บางคนผิดวินัย-รอด

“ทนง” สู้ต่อ ยาวแน่! หลัง ป.ป.ช.ฟันคดีสินบนโรลส์รอยซ์ บางคนผิดวินัย-รอด

ปิดฉากคดีสินบนโรลส์รอยซ์! ป.ป.ช.ชี้มูลผิด “ทนง พิทยะ-กวีพันธ์ เรืองผกา” โดนโทษอาญา “กนก อภิรดี” โดนผิดวินัยร้ายแรง ที่เหลือโดนผิดวินัยไม่ร้ายแรง บางรายพ้นข้อกล่าวหา ด้าน "ทนง" ยันเป็นแค่ ปธ.บอร์ด ทำตามมติ ลั่นสู้ต่อ ยาวแน่

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 สำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการพิจารณาสำนวนไต่สวน กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ผู้นำเข้าเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 รวมความเสียหายประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นไทยราว 254 ล้านบาท โดยมีการกล่าวหากลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย จำนวน 10 ราย

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดแก่นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทและนายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายการบินไทย โดยทั้ง 2 ราย มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502  จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ 

มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 

มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดีมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขาดอายุความในคดีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงเหลือแค่ความผิดตาม มาตรา 8 คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ เช่น นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบาย และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย มีความผิดทางวินัยร้ายแรง อย่างไรก็ดีนายกนกเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และบางรายพ้นข้อกล่าวหา 

สำนักข่าวอิศรา อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวอีกว่า กรรมการ ป.ป.ช. 2 เสียงข้างน้อย คือ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์  และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เห็นว่า นายทนง พิทยะ มีความผิดเฉพาะมาตรา 11 ในการพิจารณาสำนวนไต่สวนคดีนี้ โดยการกระทำความผิดตามมาตรา 11 ขาดอายุความไปแล้ว ดังนั้นความเห็นเสียงข้างน้อยของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 2 ราย จึงไม่มีผลอะไร 

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 นายทนง พิทยะ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงกรณีนี้เบื้องต้นว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยก่อนหน้านี้เคยแก้ข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช.แล้ว 2 ครั้ง ยืนยันว่าตนในฐานะประธานบอร์ด ดำเนินการตามมติของบอร์ดมาโดยตลอด แต่จำรายละเอียดไม่ได้มากนัก เพราะเรื่องผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว

"ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกันว่า ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าเป็นแค่ประธานบอร์ด ทำตามมติบอร์ด แต่ถ้าโดนชี้มูลแล้ว ก็ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป คงยาวแน่นอน" นายทนง กล่าว

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในคดีนี้ เดิมมี 11 ราย ได้แก่ 

  1. นายทนง พิทยะ 
  2. นายศรีสุข จันทรางศุ 
  3. นายกนก อภิรดี 
  4. นายกอบชัย ศรีวิลาศ 
  5. นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา 
  6. นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ 
  7. นายกวีพันธ์ เรืองผกา 
  8. เรืออากาศโท วีรชัย ศรีภา 
  9. นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปสวัสดิ์ 
  10. เรืออากาศโทชินวุฒิ นเรศเสนีย์ 
  11. นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์ 

ปัจจุบัน นายศรีสุข จันทรางศุ ถึงแก่ความตายไปแล้ว ทำให้ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ทั้งนี้การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และมีสิทธิ์ต่อสู้คดีในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังที่บริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ให้การยอมรับต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า มีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินรวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ 

หลังจากนั้นช่วงปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาเบื้องต้น 26 ราย ทั้งฝ่ายการเมือง บอร์ดบริษัทการบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวบริษัทการบินไทย โดยมีพฤติการณ์ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติมรวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ทำ และจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่การบินไทย 

โดยนอกเหนือจากกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนด้วย ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อธิบดีอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นต้น