7 ก.ค.ศาล ปค.สูงสุดชี้ชะตา “สราวุธ” ปมถูกตั้งสอบวินัยร้ายแรง คดีศาลพระโขนง

7 ก.ค.ศาล ปค.สูงสุดชี้ชะตา “สราวุธ” ปมถูกตั้งสอบวินัยร้ายแรง คดีศาลพระโขนง

7 ก.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำสั่งอุทธรณ์ ชี้ชะตา “สราวุธ เบญจกุล” อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ปมถูกตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง คดีปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง 42.3 ล้านบาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 10.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ บ.271/2564 หมายเลขแดงที่ บ.188/2564 ระหว่างนายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ผู้ฟ้องคดี กับประธานศาลฎีกา กับพวกรวม 5 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี คดีพิพาทพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของนายสราวุธ กรณีประธานศาลฎีกาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

โดยคดีนี้ นายสราวุธ ฟ้องว่า ประธานศาลฎีกา กับพวกรวม 5 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีคำสั่งสำนักงานยุติธรรม ลับ ที่ 889/2564 ลว. 19 ส.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง เป็นกรณีถูกกล่าวหาหลังจากพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรมแล้ว แต่การออกคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วต้องดำเนินการทางวินัย ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองดังกล่าว

อย่างไรก็ดีคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในขณะที่นายสราวุธดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง ทำให้ประธานศาลฎีกาขณะนั้นมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และผลการสอบสวนแล้วเสร็จในระหว่างปี 2564 ที่นายสราวุธพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายสราวุธ โดยกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงจนถึงการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายสราวุธ เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของศาลยุติธรรม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองก็ตาม แต่ถือว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ก.ต. ตามกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นายสราวุธจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสราวุธ เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการศาลยุติธรรม เคยถูกกล่าวหาในคดีการว่าจ้างปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท เมื่อปี 2562 โดยพบว่ามีเอกชนเข้ามาปรับปรุงอาคารก่อนจะมีการว่าจ้างประกวดราคาอย่างเป็นทางการ ต่อมานายสราวุธไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลยุติธรรม 

หลังจากนั้นนายสราวุธถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ามีมูล จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ก่อนสรุปความเห็นส่งที่ประชุม ก.ต. โดยที่ประชุม ก.ต. เห็นว่า นายสราวุธผิดวินัยร้ายแรง โดย ก.ต.มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ไล่นายสราวุธออกจากราชการ

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2565 นายสราวุธได้เข้าสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ด้วย แต่เนื่องจากถูก ก.ต.ลงมติผิดวินัยร้ายแรง และถูกไล่ออกจากราชการ จึงถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง