"คำนูณ" มองเกมพลิกสูตรคำนวณ ส.ส. หวังฟื้นระบบสัดส่วนผสม

"คำนูณ" มองเกมพลิกสูตรคำนวณ ส.ส. หวังฟื้นระบบสัดส่วนผสม

"คำนูณ" ไม่เอาด้วย พลิกสูตรคำนวณส.ส. หารด้วย500 ชี้เป็นเกมฟื้นข้อความ ระบบสัดส่วนผสม ที่ถูกปรับแก้ในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ60

        นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คต่อประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในเนื้อหาของมาตรา 23 ว่าด้วยวิธีคำนวณเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อตามผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ  ซึ่งกมธ.ไม่มีการแก้ไข และยึดเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนเป็นตัวเลขหาค่าเฉลี่ย แต่ล่าสุดมีสัญญาณจากรัฐบาล ขอให้สนับสนุนใช้จำนวนส.ส. 500 คนหาค่าเฉลี่ย  ว่า ในประเด็นดังกล่าวตนมองว่าไม่สามารถทำได้ และต้องถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 มาตรา 91 บัญญัติข้อความว่าด้วยการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีคำสำคัญ คือ ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับ จำนวนของส.ส.บัญชีรายชื่อ  คือ 100 คน ดังนั้นการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกรอบดังกล่าว

        "โดยถ้อยคำแล้ว แม้จะดูเป็นนามธรรม แต่ก็อ่านได้ว่าต้องกำหนดให้หารด้วย 100 ไม่ใช่หารด้วย 500 เพื่อให้ออกมาเป็นส.ส.รวมทั้ง 2 ระบบของแต่ละพรรค หรือ ส.ส.พึงมี ก่อน แล้วค่อยหักเอาส.ส.เขตออก เหลือเท่าไรจึงจะเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าไม่เหลือก็ไม่ได้ หากเขียนแบบนั้นเท่ากับย้อนเอามาตรา 91 เดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดระบบคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ถูกแก้ไขแล้วกลับมาใหม่ ทำอย่างนี้ ผมไม่อาจปลงใจเห็นด้วย”นายคำนูณ ระบุ

 

        นายคำนูณ ระบุว่า ด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่เพราะไม่ต้องการระบบคิดคำนวณแบบสัดส่วนผสม แต่ไม่เห็นด้วยเพราะการสร้างระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม ควรทำอย่างสง่าผ่าเผย ด้วยการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พาเข้าาประตูหลัง โดยนำข้อความเก่าของรัฐธรรมนูญไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

        "ถ้าผลโหวตออกมาว่าหาร 500 ชนะ และจะเรียกว่าเป็นระบบสัดส่วนผสมแบบไทย ๆ เพราะระบบดังกล่าวต้นตำรับอยู่ที่เยอรมัน และหากจะใช้เพื่อให้ได้ผลดีต่อเมื่อสัดส่วนจำนวนส.ส.เขต กับส.ส.บัญชีรายชื่อต้องใกล้เคียงกัน หรือเท่ากันเลยยิ่งดี อาทิ 350 : 150 หรือ 300 : 200 หรือดีที่สุดคือ 250 : 250 แต่ของเรากำลังจะเริ่มใช้ระบบนี้โดยเข้าทางประตูหลังด้วยสัดส่วน 400 : 100 ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำนองหัวมังกุท้ายมังกรอย่างไรชอบกล ดังนั้นจะเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหนก็ตาม ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญตามสมควร ไม่ใช่มาบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะชวนให้เห็นว่าเป็นการย้อนแย้ง สุดท้ายเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณ ระบุ.