"กัญชาเสรี" เกินขอบเขต ต้นเหตุอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล

"กัญชาเสรี" เกินขอบเขต  ต้นเหตุอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล

ได้ยินว่าฝ่ายค้านหลายพรรค แม้แต่พรรคเพื่อไทย ไม่กล้าอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็น “กัญชาเสรี” เพราะกลัวเข้าตัว หรือถูกย้อนจนเสียรังวัด เนื่องจากไปยกมือสนับสนุนประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ผ่านสภาเมื่อปีที่แล้ว และยังยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เมื่อ 8 มิ.ย.65 อีก

   ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยเองก็ผวากระแสกัญชาที่มาแรงทุกพื้นที่ รวมถึงอีสาน เนื่องจากเป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยเคลมว่า “พูดแล้วทำ” ของจริง

    เป็นหนึ่งในนโยบายเด่นที่กำลังกลายเป็นที่จดจำ ไม่ต่างอะไรกับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือจำนำข้าว แม้จะมีรอยด่างเรื่องทุจริต แต่ชาวนา เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุน

    ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่นโยบายกัญชาอาจจะถูกโจมตีบ้าง แต่ก็ยังเป็นผลงานชิ้นโบแดงของภูมิใจไทยได้

จริงๆ เรื่องนี้ต้องแยกแยะประเด็นให้ชัด

1.ทุกฝ่ายเห็นด้วยตรงกันในการแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์

2.แต่ไม่ใช่ทุกฝ่ายที่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ เพราะสุ่มเสียงเข้าถึงเยาวชน และเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ยาเสพติดอื่น

   ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันให้ชัดก็คือ การปลดล็อกกัญชาให้ใช้ได้ในทางการแพทย์ มันบานปลายกลายเป็น “เสรีกัญชา” มวนพันลำขายกันริมถนนได้อย่างไร

   บางคนอาจจะเถียงว่า กัญชามีคุณสมบัติ (หรือโทษสมบัติ) เป็นยาเสพติดน้อยกว่าสุรา และบุหรี่ แต่ทำไมรัฐให้จำหน่ายได้

   ก็ถูกที่เหล้า บุหรี่ จำหน่ายได้ แม้แต่ในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำในซอยบ้าน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามันก็มีกติกาในการซื้อขายกันอยู่ระดับหนึ่ง เช่น จำกัดเวลาขาย จำกัดอายุผู้ซื้อ แต่กัญชา ณ เวลานี้ ไม่มีจำกัดเลย ยกเว้นที่เพิ่งมาออกประกาศตามหลัง (ห้ามจำหน่ายให้เยาวชน และสตรีมีครรภ์)

   เราจึงเห็นการมวนพันลำขายกันริมถนน และถ้ากระแสสังคมไม่ยั้งเอาไว้ คงขายกันเกร่อไปแล้วตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือแม้แต่บริเวณใกล้สถานศึกษา

สมมติเราจัดสถานะของกัญชา เท่ากับสุรา บุหรี่ ถามใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า เลี้ยงลูกให้โตขึ้นมา อยากให้ลูกติดบุหรี่ ติดเหล้าหรือเปล่า อยากให้เมาแล้วขับ จนถูกจับ ต้องไปประกันตัวหรือไม่ อยากเห็นลูกเดินคาบบุหรี่ไปไหนต่อไหน หรือไปยืนหลบสูบตามมุมตึกหรือเปล่า

แน่นอนคงไม่มีใครอยากเห็นภาพลูกหลานของตนเองเป็นแบบนั้น กัญชาก็เช่นกัน คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกไปซื้อพันลำมาเดินสูบ หรือหลบสูบในห้อง เพื่อไม่ให้ควันรบกวนเพื่อนบ้าน เดี๋ยวผิดกฎหมาย ถูกปรับ

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ใช้เพื่อบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ และใช้ตามหมอสั่ง ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพเท่านั้น

ถามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะเรื่องนี้ไม่ใครก็ใครต้องสับสนแน่ๆ เนื่องจากคนเปิดร้านมวนพันลำขายริมถนน ตำรวจบอกเอาผิดไม่ได้ แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อาจารย์วิษณุ เครืองาม บอกว่าผิด

  ย้อนกลับไปที่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 ได้ถอดชื่อ “กัญชา” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 จริง แต่สถานะการเป็นยาเสพติดของกัญชาไม่ได้หมดไป

   เพราะยาเสพติดแต่ละประเภทมีมากมายหลายชนิด ชื่อที่ใส่ในประมวลกฎหมาย เป็นเพียงตัวอย่าง เช่น ประเภท 1 ก็ยกตัวอย่าง เฮโรฮีน ประเภท 2 ก็ยกตัวอย่าง มอร์ฟีน โคคาอีน

   การระบุชื่อยาเสพติด ยังต้องไปโยงกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส.ด้วย ซึ่งบัญญัติอยู่ในวรรคท้ายของมาตรา 29 ประมวลกฎหมายยาเสพติด

  ส่วนการเปิดช่องให้ครอบครองหรือใช้ในทางการแพทย์ มีบัญญัติรองรับไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 32 มาตรา 33 ในประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งก็เขียนเปิดช่องและกำหนดกติกาเอาไว้หมดแล้ว

  ฉะนั้นการไม่มีชื่อ “กัญชา” อยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ไม่ได้แปลว่า “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ด้วยเหตุนี้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบกฎหมายนี้ ไม่ได้หมายความว่าท่านสนับสนุนให้มวนพันลำขายริมถนนได้

  เพราะการที่ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่ “ปลดล็อกทางการแพทย์” แต่กลายเป็น “กัญชาเสรี” จนหลายฝ่ายทุ่มเถียงกันอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า “มันใช่หรือไม่ มันถูกทางแล้วจริงหรือ?? จริงๆ แล้วมันมาจากการยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดิม

  จากนั้นก็ไปออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ เรื่อง ระบุรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงนามโดย นายอนุทิน ขาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 ก.พ.65 และให้มีผลหลังจากนั้น 120 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิ.ย.65 จนกลายเป็นวันปลดล็อกกัญชา 100% ที่เราเห็นๆ กันอยู่

   ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการกระทำของ “ฝ่ายบริหาร” หรือ “รัฐบาล” โดยแท้ และประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะที่ รมว.สาธารณสุข ก็คือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จึงไม่ใช่เรื่องที่สมาชิกรัฐสภา หรือฝ่ายค้านต้องกลัวถูกย้อนศร

   ส่วนการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ไม่ใช่การรับรองให้มวนพันลำขายได้ริมถนน หรือสูบกัญชาได้ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย เพราะกฎหมายออกมาเพื่อควบคุมการใช้กัญชา ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายต้องมีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.65 จึงจะถูกต้อง

   ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ฉบับนี้ ยังมีความคลุมเครือในตัวเอง และสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม โดยเฉพาะการกำหนดให้ “สารสกัด” จากกัญชา กัญชง ที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เป็นยาเสพติด

   เรื่องนี้สามารถตีความได้สองนัย คือ 1.ช่อดอกกัญชาไม่เป็นยาเสพติด หากไม่ได้นำมาสกัด และถึงจะสกัดแล้ว หากสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ก็ไม่ผิด

  หรือ 2.ช่อดอกกัญชาที่มี THC โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-12 โดยน้ำหนักอยู่แล้ว ย่อมถือเป็นยาเสพติด เพราะภายในช่อดอกมีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแน่นอน

  นัยที่ 2 คือสิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายยังเข้าใจว่า ช่อดอกกัญชาคือยาเสพติด

   แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงก่อนหน้านี้ว่า เมื่อ “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติด เพราะไม่มีชื่อระบุในประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว การครอบครองไม่ว่าส่วนใดจึงไม่ผิด และไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า จับกุมไม่ได้ ยกเว้นนำช่อดอกไปสกัดเป็นสารสกัด แล้วมีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 จึงจะมีความผิด ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการขนาดนั้น ผู้ครอบครองก็หนีไปไกลแล้ว

   นักกฎหมายหลายคนเห็นตรงกันว่า ประกาศฉบับนี้มีความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง ยากต่อการปฏิบัติและบังคับใช้ (หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายก็ไม่กล้าจับ ไม่กล้ายึด เพราะเสี่ยงถูกฟ้องกลับ) จึงควรที่จะมีการถกเถียงให้ชัดเจนเพื่อหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว

   ย้ำอีกครั้ง ไม่มีใครคัดค้านการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ แต่ขณะนี้โดยกฎหมาย กลายเป็นปรากฏการณ์ปล่อยเสรีจนทำอะไรก็ได้ จึงต้องถามใจคนไทยทุกคนว่า ต้องการ “กัญชาเสรี” แบบนี้จริงๆ หรือ?