นักข่าวรางวัลแมกไซไซ ชี้อนาคตสื่อสู้สงครามเซนเซอร์ใหม่ “ข่าวปลอม” ระบาด

นักข่าวรางวัลแมกไซไซ ชี้อนาคตสื่อสู้สงครามเซนเซอร์ใหม่ “ข่าวปลอม” ระบาด

“ชีล่า โคโรเนล” ปาถกฐาพิเศษครบรอบ 25 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวน” ชี้สื่อในอนาคตต้องต่อสู้สงคราม “เซนเซอร์สื่อ” รูปแบบใหม่ ปม “ข่าวปลอม” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ชี้สื่อเมืองหลวงกำหนดประเด็นทั้งประเทศ ต้องอย่าทอดทิ้งคน ตจว.

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี มีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน และมีไฮไลต์อยู่ที่ Sheila Coronel (ชีล่า โคโรเนล) อดีตนักข่าวฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาสื่อมวลชน ปาฐกถาพิเศษ “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟเรนซ์จากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยมีนายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระ เป็นผู้แปล

ชีล่า กล่าวตอนหนึ่งว่า สื่อมวลชนในสมัยก่อน ขจัดเผด็จการคือสื่อมวลชนมีหน้าที่อย่างเดียวคือต่อสู้กับเผด็จการ และคิดว่าเราเอาชนะเผด็จการก็พอแล้ว ก็สิ้นสุดแล้ว แต่ว่าไม่เลย เพราะประเทศที่มีระบบเสรีนิยม ก็มีระบบที่ปิดกั้นสื่อเช่นกัน เช่น กรณีสังคมสหรัฐอเมริกาในช่วงโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ไม่ใช่รูปแบบของการเซนเซอร์สื่อ เช่น ลักษณะการสร้างข่าวปลอม 

ชีล่า กล่าวอีกว่า รู้สึกเจ็บแค้นมากว่า ประธานาธิบดีมาร์กอส เป็นอดีตเผด็จการ แต่ทำไมประชาชนถึงเลือกลูกชายเขาเป็นประธานาธิบดี ประชาชนถูกหลอกหรือไม่ เพราะเชื่อในสิ่งที่ได้ยินทุกวัน โดยมาร์กอสจูเนียร์ เรียนรู้ว่าจะชนะได้ต้องสร้างภาพเสมือนจริงว่า ฟิลิปปินส์จะรุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับกรณีดูเตอร์เต้ อดีตประธานาธิบดีที่ทำสงครามยาเสพติดแบบรุนแรง

ชีล่า กล่าวว่า ไม่นึกเลยว่ามาร์กอสจูเนียร์จะได้เป็นประธานาธิบดี เพราะมาร์กอสยังติดเงินภาษีประเทศอยู่กว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นการที่มาร์กอสจูเนียร์ได้ คือการสร้างภาพมโนแก่ประชาชนว่า ความเจริญเติบโตของฟิลิปปินส์ในสมัยก่อน จะเป็น “โกลเด้นเอจ” แบบยุคมาร์กอส กลับมาอีกครั้ง คำถามคือประชาชนลืมหรือไม่ ประชาชนไม่ลืมหรอก แต่ว่าประชาชนโดนอำพราง ดังนั้นหลังจากนี้การต่อสู้ของสื่อในโซเชียลมีเดียรุนแรงแน่ การสร้างภาพในโลกอินเทอร์เน็ต สื่อต้องรู้เท่าทัน

ชีล่า กล่าวด้วยว่า ความเหลื่อมล้ำของเรื่องข้อมูลข่าวสารสำคัญ เพราะคนอยู่นอกเมืองหลวงถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจ เพราะข่าวทุกข่าวมาจากเมืองหลวง และเป็นตัวกำหนดประเด็นข่าว ดังนั้นสื่อต้องไม่ทอดทิ้งประชาชนที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะคนนอกเมืองหลวง