“เรือ-โดรน-สงคราม” ยุทธศาสตร์ลาก “กองทัพ” เขย่าอำนาจ 3 ป.

“เรือ-โดรน-สงคราม” ยุทธศาสตร์ลาก “กองทัพ” เขย่าอำนาจ 3 ป.

แม้ “พล.อ.ประยุทธ์ ” จะมั่นใจว่า “ศึกซักฟอก”ผ่านฉลุยไม่ต่างกับที่ผ่านมา แต่ได้เน้นย้ำ "ผบ.เหล่าทัพ" ให้เตรียมข้อมูลสนับสนุนรัฐบาล เพราะปัญหาภายในกองทัพ ที่เกี่ยวพัน "พี่น้อง 3 ป." อาจส่งผลให้ตกเก้าอี้นายกฯแบบไม่รู้ตัว

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “ศึกซักฟอก”รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก่อนครบวาระ 4 ปี จะเริ่มขึ้นในวันที่ 19 ก.ค.นี้ หลังคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือตอบกลับสภาเพื่อยืนยันถึงความพร้อม

 หลัง 6 พรรคฝ่ายค้าน ที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ออกมาเปิดยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” รัฐมนตรี 11 คน ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

แต่หากเป้าหมายมุ่งโจมตีไปยังเป้ายุทธศาสตร์ เพื่อล้มแผงอำนาจ “พี่น้อง 3 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เรื่องภายในกองทัพที่พัวพันกันมาทั้งในอดีต และปัจจุบันน่าจะเป็น “ไฮไลท์”สำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ปัญหา “เรือดำน้ำ” ขาดเครื่องยนต์ ที่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การยกเลิก หรือ เปลี่ยนแปลงสัญญา แต่ที่แน่ๆ “บิ๊กป้อม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำหรับ “เรือดำน้ำจีน” กำลังหาจังหวะที่เหมาะสมพูดคุยกับรัฐบาลจีน หลัง กองทัพเรือไทย ปฏิเสธข้อเสนอเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำของบริษัท CSOC

สำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำ รุ่น Yuan Class S 26 T จากจีนแบบจีทูจี 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท เริ่มในยุครัฐประหาร 2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ /หัวหน้า คสช. และ “บิ๊กป้อม” เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งมีบทบาทสำคัญผลักดันโครงการดังกล่าว จนกลายเป็นประเด็นถูกโจมตีทั้งประสิทธิภาพ ความโปร่งใสมาตลอด 8 ปี

เช่นเดียวกับ โครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน (UAV ) แบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกล หรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) มูลค่า 4,100 ล้านบาท แบบ Hermes 900 อิสราเอล ของ "กองทัพเรือ"ที่ฝ่ายค้านหวั่นจะมีปัญหา ซ้ำรอยเรือดำน้ำ จากข้อครหาเปลี่ยนแบบ สถิติตกบ่อย ราคาแพง

ฟาก “กองทัพบก” เรื่องใหญ่คงหนีไม่พ้น การนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ของ พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 (ผอ.ททบ.5)เพื่อนรัก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สุ่มเสี่ยงขัดนโยบายรัฐบาล เรื่องวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

เพราะต้องไม่ลืมว่า การบริหารงาน ททบ.5 ภายใต้การดูแลของ “พล.อ.รังษี” เคยถูก “ฝ่ายค้าน” หยิบยกมาโจมตี “พล.อ.ประยุทธ์” ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อ 18 ก.พ.2565 ด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสและเป็นกลางในการนำเสนอข่าวหลังเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมผลิตรายการมาแล้วครั้งหนึ่ง

ก่อนจะมาเกิดกรณีการเดินทางเข้าพบทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ของ พล.อ.รังษี ท่ามกลางกระแสวิพากวิจารณ์ถึงความเหมาะสม แม้จะมีการอ้างว่าทำหน้าที่ในฐานะ ผอ.ททบ.5 แต่หมวกอีกใบคือทหาร สัญลักษณ์กองทัพ และยังเป็นคนสนิท ผบ.ทบ. จึงเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนตัว “ผอ.ททบ.5”

มหากาพย์ “จีที 200” หรือ ไม้ล้างป่าช้า ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิด ก็กลับมาเป็นประเด็นให้ “ฝ่ายค้าน” หยิบยกมาโจมตีรัฐบาลได้อีกครั้ง หลัง กองทัพบก ตั้งงบ 7.57 ล้านบาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่าพิสูจย์ เครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง ใช้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในเวลาคาบเกี่ยวที่ศาลตัดสินให้กองทัพบกชนะคดี

ทั้งนี้ ในปี 2550-2553 มีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 มากที่สุด ในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. แบ่งเป็น สมัย นายกฯสมัคร สุนทรเวช จำนวน 107 เครื่อง นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำนวน 44 เครื่อง นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 547 เครื่อง ก่อนรัฐบาลสั่งให้หยุดใช้งาน

ในส่วน “กองทัพอากาศ” คาดว่าจะเป็นเหล่าทัพที่ถูกฝ่ายค้านพาดพิงน้อยสุด แม้จะมีโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 แต่เป็นเพียงการตั้งงบเพื่อศึกษาโครงการและสหรัฐจะยอมขายให้หรือไม่ ซึ่งยังต้องรออีกหลายขั้นตอนถึงจะมีความชัดเจน

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ ” แม้จะมั่นใจว่า “ศึกซักฟอก”ครั้งนี้จะผ่านฉลุยไม่ต่างกับที่ผ่านมาแต่ได้ใช้โอกาสประชุมสภากลาโหม เมื่อ24 มิ.ย. เน้นย้ำ ผบ.เหล่าทัพ เตรียมพร้อมข้อมูลสนับสนุนรัฐบาลในประเด็นที่คาดว่าจะถูกพาดพิง

เพราะหากเคลียร์ไม่ชัด แจงไม่ครบทุกประเด็น ปัญหาที่เกิดภายในกองทัพ ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน และเกี่ยวพันกับ “พี่น้อง 3 ป.” อาจส่งผลให้ “นายกฯ”ตกเก้าอี้กลางสภาแบบไม่รู้ตัว