"ชวน" มอง 90ปีประชาธิปไตยไม่มั่นคง ชี้ "นักการเมือง" ไม่ยึดนิติรัฐ ชนวนวิกฤต

"ชวน" มอง 90ปีประชาธิปไตยไม่มั่นคง ชี้ "นักการเมือง" ไม่ยึดนิติรัฐ ชนวนวิกฤต

"ชวน" บรรยายพิเศษ 90ปีรัฐสภาไทย ชี้ประชาธิปไตยไม่มั่นคง -เจอวิกฤตหนัก เพราะนักการเมืองไม่ยึดนิติธรรม นิติรัฐ หาผลประโยชน์ หวังวันครบรอบ1ทศวรรษ ไม่มีนักการเมืองติดคุกทุบสถิติอีก

          นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง 90  ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง เนื่องในงานนิทรรณการและเสวนาวิชาการ โอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภาไทย ตอนหนึ่งว่า กระบวนการประชาธิปไตย 90 ปีที่ผ่านมา ล้มลุกคลุกคลาน คือไม่มั่นคง และมีการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มาของส.ส. ทั้งระบบเขต และให้มีกฎให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากมีปัญหาเพราะส.ส.ขายตัว  สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อ  และในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงคือสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้สมัยปัจจุบันซึ่งตนดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา มีทูตเยอรมันมาเยี่ยม คุยเรื่องระบบเลือกตั้งให้ฟัง  โดยระบุว่าระบบเลือกตั้งที่ไทยใช้ขณะนี้  เยอรมันเคยใช้มาแล้วมีปัญหาเรื่องความมั่นคงการเมือง รัฐบาลและอื่นๆ จึงยกเลิก  และกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งที่ไทยยกเลิกไป คือ ร้อยละ  5 เพื่อไม่ให้มีพรรคมากเกินไป 

 

          "คะแนนตกหล่นที่อ้างเรื่องนี้ หากดูคะแนนตกหล่น 3 หมื่นคะแนนได้เป็นผู้แทน แต่ 6หมื่น-7หมื่นไม่ได้เป็น ส.ส. ทำให้คะแนนตกหล่นนั้นพูดยากหากเทียบกับคะแนนมากกว่าเป็นผู้แทน ขณะนี้รัฐสภามีการแก้ไขกฎหมาย และจะเข้ารัฐสภา ในช่วงสัปดาห์หน้า” นายชวน กล่าาว

 

          นายชวน กล่าวด้วยว่าสำหรับการเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองที่สำคัญ คือ ส.ส.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นข้อผูกพันสำคัญที่นักการเมืองต้องยึดโยงกับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีองค์กรตรวจสอบนักการเมือง คือ องค์กรอิสระ ทั้งนี้ในชีวิตจริงของทำงานการเมือง ตนมองตรงไปตรงมา เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมของตัวบุคคล กฎหมายที่ดีจำเป็นกำหนดโครงสร้างบ้านเมือง หน้าที่ของแต่ละฝ่าย และต้องประกอบด้วยคนประพฤติดี ยึดหลักนิติรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่กติกาดี แต่คนใช้หลักนอกนิติธรรม นอกกฎหมาย ไม่ได้ปกครองโดยหลักประชาธิปไตย ทำให้วิกฤตปัญหากลายเป็นปัญหาความมั่นคงถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

          “ช่วง90 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่ามียุคที่เป็นวิกฤตของนักการเมือง พบรัฐมนตรีติดคุกมาก ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้น เพราะเป็นช่วงที่ความเชื่อเรื่องการหาผลประโยชน์ ไม่เชื่อหลักนิติธรรม รวมถึงไม่เชื่อการปกครองด้วยหลักคุณธรรม ดังนั้นผมมองว่าในอีก 10 ปี ที่รัฐสภาไทยจะครบ 100 ปี ไม่อยากให้สถิติรัฐมนตรี นักการเมืองติดคุกถูกทุบสถิติ ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีติดคุก 40 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง เป็นไปได้อย่างไร แต่เป็นไปแล้ว สำหรับวิกฤตของบ้านเมืองที่เกิดจากความปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์ ผมมองว่าโครงการบ้านเมืองสุจริตที่สภาฯทำ เพราะ ไม่อยากดูดาย น่าจะมีผลได้บ้าง” นายชวน กล่าว

 

          นายชวน กล่าวด้วยว่า 90 ปี รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำนโยบายเกี่ยวกับการกระจายโอกาส และการศึกษา การเมืองระบอบประชาธิปไตยทำให้คนที่ขาดโอกาสเข้ามากำหนดนโยบายยเพื่อให้โอกาส ทั้งนี้ตนเชื่อว่า 90 ปีสิ่งสำคัญคือ การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปี 2538 จากเด็กไม่กี่หมื่นคน แต่วันนี้ มีเงินหมุนเวียน 6 ล้านล้านบาท มีเด็กได้เรียน 6 ล้านคน ถือเป็นการลดช่องว่างได้ ทั้งนี้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีมาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีช่องว่าง คือ คุณภาพการศึกษา ดังนั้นต้องแก้ไข.