24 มิ.ย. 2475 ไม่ใช่แค่ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แต่เคยเป็น “วันชาติ” ด้วย

24 มิ.ย. 2475 ไม่ใช่แค่ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แต่เคยเป็น “วันชาติ” ด้วย

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงรู้จัก “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” กันเป็นอย่างดี เพราะเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หารู้ไม่วันเดียวกันนั้นก็เคยถูกยกให้เป็น “วันชาติ” อีกด้วย

วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปี ประเทศไทยเราถือว่าเป็น วันปฏิวัติสยาม อภิวัฒน์สยาม หรือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ซึ่งเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในช่วงเวลาย่ำรุ่งโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะราษฎร” แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าในวันเดียวกันนี้เคยเป็น “วันชาติ” มาก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้วันที่ 5 ธ.ค. แทนในปัจจุบัน

  • วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

24 มิ.ย. ของทุกปี นับว่าเป็นหนึ่งในวันสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย หรือสยามประเทศในขณะนั้น นั่นก็คือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นวันที่ “คณะราษฎร” ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว โดยแผนการเริ่มขึ้นในช่วงย่ำรุ่งหรือประมาณ 04.00 – 05.00 น. คณะราษฎรนำกองกำลังทหารบก ทหารเรือ รวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับอ้างว่าเป็นการสวนสนาม

แต่ทว่าหลังจากนั้น พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่มีใจความเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองแผ่นดินในเรื่องต่าง ๆ และรายละเอียดที่อธิบายถึงความเป็นประชาธิปไตย

แต่จะมีใจความอยู่ตอนหนึ่งที่เป็นถูกพูดถึงกันเรื่อยมา นั่นก็คือ

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"

นอกจากนี้ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม

พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 เมื่อเวลา 05.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างล่วงหน้าไว้แล้ว มีข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ระบุว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"

  • คณะราษฎร

เป็นการรวมกลุ่มกันของคณะนายทหารและพลเรือน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" เกิดขึ้นเพราะผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ

ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นว่า สมาคมคณะราษฎร หรือต่อมาใช้ว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป

โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่

  1. ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
  2. ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
  3. ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
  4. ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
  5. ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  6. จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
  7. แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ

ซึ่งก่อนทำการปฏิวัติที่ประชุมมีมติว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน"

รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย หลังจากการปฏิวัติเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการทำสัญลักษณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือหมุดทองเหลือง ที่มีข้อความสลักไว้ว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ซึ่ง "หมุดคณะราษฎร" นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในมรดกทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง

  • หมุดคณะราษฎร

เนื่องจากเพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ได้มีการนำหมุดกลมสีทองเหลือง ฝังลงบนพื้น กลางถนน ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้าอดีตกองบัญชาการทหารสูงสุด แต่ในปัจจุบันหมุดคณะราษฎรได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี 2560

  • วัดประชาธิปไตย

หรือชื่อในปัจจุบันคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญในคณะราษฎร รวมไปถึงบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ด้วย

  • อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เป็นอนุสาวรีย์ที่ก่อสร้างโดยคณะราษฎร ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนดินสอ เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น "หลักกิโลเมตรศูนย์" ที่ซึ่งเป็นอ้างอิงในการวัดระยะทางจากกรุงเทพมหานคร

  • อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

มีอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นอนุสาวรีย์ที่เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา

สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนั่นก็คือการปราบกบฏบวรเดช ในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีชะตากรรมเดียวกันกับหมุดคณะราษฎรเพราะปัจจุบันมีสถานะสูญหาย ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลายไปแล้ว

  • วันชาติในอดีต

นอกจากวันที่ 24 มิ.ย. จะเป็น “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แล้ว ในอดีตวันนี้ยังมีอีกสถาะหนึ่งก็คือ “วันชาติ” หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นผลให้คณะราษฎรมีอำนาจในปกครองประเทศ และยกฐานะให้วันดังกล่าวกลายเป็น “วันชาติ” ครั้งแรก เมื่อปี 2482

ด้วยความพยายามผลักดันของ พันเอก หลวงพิบูลสงคราม มีประกาศให้วันที่ 23 – 25 มิ.ย. เป็นวันหยุด มีการเฉลิมฉลองไปทั่วทั้งประเทศ ในทุกภาคส่วน และที่สำคัญสิ่งที่ประชาชนได้รับในงานเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกคำคืออวยพรจาก “สถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือรัชกาลที่ 8 ได้ส่งพระราชโทรเลขเพื่อทรงอวยพรประชาชนชาวไทยในวาระโอกาสวันชาติทั้งในปีแรกจนถึงปี 2484

เพราะหลังจากนั้นเกิดความไม่สงบบริเวณทวีปยุโรปทำให้การส่งโทรเลขเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต่อมาในปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิ.ย. และให้ถือเอาวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทนโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งในขณะนั้นตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูล : BBC NEWS Thai , ศิลปวัฒนธรรม , iNN LIFESTYLE