"แอสเนสตี้" คลอดกฎระดับโลก 20 ข้อ เพื่อยุติ ตร.ใช้ไม้กระบองในทางที่ผิด

"แอสเนสตี้" คลอดกฎระดับโลก 20 ข้อ เพื่อยุติ ตร.ใช้ไม้กระบองในทางที่ผิด

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ คลอดกฎระดับโลก 20 ข้อ เพื่อยุติการใช้ไม้กระบองตำรวจในทางที่ผิด

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานสั้นฉบับใหม่ ก่อนถึง “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” (26 มิถุนายนของทุกปี) เพื่อกำหนดแนวทางและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้อาวุธเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เน้นให้เห็นถึงหลักการสำคัญในแง่ของความถูกต้องตามกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความรับผิด

ตามมาตรฐานระหว่างประเทศจะต้องไม่ใช้ไม้กระบองเป็นเครื่องมือเพื่อการลงโทษ เพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ หรือเพื่อทำร้ายบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ยังคงใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องในลักษณะที่อาจเข้าขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

นอกจากการเผยแพร่รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังมีการเสนอกฎ 20 ข้อของการใช้ไม้กระบองในลักษณะที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเนื้อหาที่มาจากหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติเมื่อปี 2558 ของแอมเนสตี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้มีการห้ามใช้โดยเด็ดขาดสำหรับกระบองที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย เช่น กระบองที่มีหนามแหลม และเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาการควบคุมการซื้อขายกระบองและสินค้าเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะถูกนำไปใช้สำหรับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย

รายงานใหม่นี้จะถูกนำเสนอระหว่างการประชุมที่ร่วมจัดโดยสมาคมป้องกันการทรมาน (APT) และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ว่าด้วยการป้องกันการทรมานในบริบทของการชุมนุมสาธารณะ ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ 

โดยกฎ 20 ข้อของการใช้ไม้กระบองที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเนื้อหาที่มาจากหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติเมื่อปี 2558 ของแอมเนสตี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานดังนี้

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรปฏิบัติอย่างยิ่ง 

  • ใช้ไม้กระบองเฉพาะเพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายด้วยความรุนแรง 
  • ใช้ไม้กระบองเฉพาะเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าแล้ว 
  • ก่อนการใช้ไม้กระบอง ให้ประกาศคำสั่งอย่างชัดเจนเพื่อยุติความรุนแรง และเตือนว่าอาจมีการใช้กำลังหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง 
  • ให้มุ่งตีที่บริเวณกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกาย (ต้นขา หรือต้นแขน) และหลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส 
  • ต้องมีเหตุผลชัดเจนในการตีแต่ละครั้ง และให้ยุติการใช้ไม้กระบองทันที เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมายไม่ควรปฏิบัติ

  • ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่อยู่ในความสงบแล้ว หรือไม่ได้ใช้กำลังในการตอบโต้ 
  • ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่
  • ใช้ไม้กระบองเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ 
  • “การไล่ตีด้วยไม้กระบอง” เช่น การใช้ไม้กระบองไล่ตีขณะวิ่งตามผู้ชุมนุมซึ่งกำลังหลบหนี 

เล็งไปที่เป้าหมาย “ที่มีความเสี่ยงสูง” (เช่น ศีรษะ คอ กระดูกสันหลัง ลำคอ ขาหนีบ) ยกเว้นในสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้า อันอาจนำไปสู่การทำร้ายให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต และไม่มีแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแล้ว

\"แอสเนสตี้\" คลอดกฎระดับโลก 20 ข้อ เพื่อยุติ ตร.ใช้ไม้กระบองในทางที่ผิด