วางเงื่อนไข “ปิยบุตร” รายงานตัวทุก 7 วันคดี ม.112 ลั่นปรารถนาดีต่อสถาบันฯ

วางเงื่อนไข “ปิยบุตร” รายงานตัวทุก 7 วันคดี ม.112 ลั่นปรารถนาดีต่อสถาบันฯ

ตำรวจวางเงื่อนไข “ปิยบุตร” รายงานตัวคดีถูกกล่าวหาทำผิด ม.112 ทุก 7 วัน เจ้าตัวห่วงสังคมไม่มีพื้นที่แสดงออกทางความคิด ให้ความเห็นทางวิชาการยังโดนกล่าวโทษ ลั่นปรารถนาดีต่อสถาบันฯ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่ สน.ดุสิต นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก กรณีถูกกล่าวหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีนายเทพมนตรี ลิมปพยอม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งนี้นายปิยบุตรให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

โดยนายปิยบุตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนว่า ยืนยันว่าข้อความที่นายเทพมนตรีกล่าวโทษทั้ง 8 ข้อความ ได้นั่งอ่านหมดแล้ว ไม่มีข้อความไหนที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เลย ท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 112 เพียง 1 ข้อความเท่านั้น คิดว่าวิญญูชนลองอ่านข้อความอีกครั้งก็สามารถวิเคราะหได้ว่ามันไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐาน 112 แต่เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นแบบนี้ก็ต่อสู้คดีกันไป ตนจะเตรียมคำให้การมา

นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องคดีที่โดนไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว แต่สำคัญกับภาพใหญ่ กับเสรีภาพของความคิดเห็น ทุกท่านคงยอมรับตรงกันว่าปัจจุบันมีความคิด การแสดงออกของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากเกี่ยวกับการปฏิรูป เล็งเห็นว่าเพื่อทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติ เพื่อให้ความเห็นทั้งฝ่ายที่ต้องการและไม่ต้องการปฏิรูป หรือฝ่ายที่เฉย ๆ สามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเป็นปกติสุข ควรจะมีการพูดคุยในพื้นที่ที่ปลอดภัย

“ปรากฏว่าการแสดงออกของผม ซึ่งต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบนี้กลับโดนนายเทพมนตรีกล่าวโทษทำความผิด 112 สังคมขบคิดว่าการแสดงความเห็นทางวิชาการแบบนี้ยังถูกกล่าวโทษ ตกลงแล้วจะมีทางเลือกไหนให้เดินอยู่บ้างในสังคมไทย ผมจะโดนคดีหรือไม่ จะถูกจำกัดเสรีภาพหรือไม่ อันนั้นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่กว่านั้นคือตกลงแล้วเราจะปิดพื้นที่ทุกอย่าง ไม่สามารถคุยกันในที่สาธารณะได้หรือไม่ ข้อความที่ฝ่ายอนุรักษนิยมบอกว่ารุนแรงเกินไป อย่าพูด ท้ายที่สุดข้อความแบบผมที่แสดงเหตุผลทางวิชาการ แบบตรงไปตรงมาด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันและประชาธิปไตยไทยก็โดน 112 อีก สรุปแล้วการพูดคุยอยู่ตรงไหน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือสังคมไทยจะอยู่ต่อไปอย่างไร เมื่อการแสดงความเห็นทางวิชาการก็สามารถถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน เราจะพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างไร ยืนยันความปรารถนาดี ความมุ่งมั่นมาโดยตลอด สำหรับนายเทพมนตรีที่กล่าวโทษก็ไม่เป็นไร ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน ไม่ทราบว่าคิดอ่านอะไร แต่ก็อยากเรียนนักร้อง นักแจ้งความทั้งหลายว่า เวลาจะร้อง จะแจ้งความ ให้พิจารณาเรื่องกฎหมายบ้าง นี่คือการเอาผิดกันทางอาญา มีกฎหมายอาญาอยู่ ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายอาญา มิใช่เอาจินตนาการ ความรู้สึกตนเองเที่ยวมาแจ้งความ ไม่ใช่แจ้งความคนเพื่อปิดปากไม่ให้เขาพูด โต ๆ กันแล้วควรใช้สติสัมปชัญญะในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้บ้าง

“หลายเรื่อง หลายข้อความของนายเทพมนตรีและสำนักข่าวช่องหนึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาทผมชัดเจน แต่ยืนยันว่าไม่คิดจะดำเนินคดีนายเมพทนตรี หรือสำนักข่าว หรือผู้ประกาศของสำนักข่าวดังกล่าว เพราะเชื่อว่าหมิ่นประมาท เอาคนไปติดคุก เขาไม่เข้าใจผมหรอก เขาจะเกลียดผม คนจะรักต้องแสดงเหตุผลกัน ไม่ใช่เอากฎหมายไปปิดปาก การทำแบบนี้อยากให้สำนึกบ้าง อย่าคิดว่าผมใจดี ได้ทีเอาใหญ่ ใช้เหตุใช้ผลกันบ้าง ทำตัวให้เป็นนักวิชาการและสื่อมวลชนมากกว่านี้” นายปิยบุตร กล่าว

วางเงื่อนไข “ปิยบุตร” รายงานตัวทุก 7 วันคดี ม.112 ลั่นปรารถนาดีต่อสถาบันฯ

ส่วนนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า วันนี้ตำรวจเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาที่ นายเทพมนตรี แจ้งกล่าวหานายปิยบุตรไว้ตั้งแต่ พ.ย. 2564 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเป็นถ้อยคำที่มาจากการโพสต์ในทวิตเตอร์และโพสต์เฟซบุ๊กหลายรายการ ซึ่งพนักงานสอบสวนใช้เวลา 5-6 เดือน พิจารณาว่ามีข้อความที่น่าจะ หรืออาจจะเป็นความผิด 1 ข้อความ คือข้อความที่นายปิยบุตรโพสต์ในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564

นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ข้อความดังกล่าวเทพมนตรีนำมากล่าวโทษว่าอาจารย์กระทำความผิด มาตรา 112 ซึ่งเราให้การปฏิเสธ ทั้งนี้ ความเห็นของพนักงานสอบสวนเห็นว่า 7-8 ข้อความที่นายมนตรีกล่าวหาไม่มีความผิดใด ๆ มีแต่ข้อความเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 ที่เห็นว่าน่าจะมีความผิด วันนี้จึงได้แจ้งข้อกล่าวหานายปิยบุตร มีความผิดกรรมเดียว โดยนายปิยบุตร ได้รับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด ส่วนรายละเอียดนายปิยบุตรขอเวลาพนักงานสอบสวน ซึ่งเขาให้เวลาไปดูว่าถ้อยคำดังกล่าวจะโต้แย้ง หรือต่อสู้คดีอย่างไร อีกทั้งให้รวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีต่าง ๆ ภายใน 30 วัน โดยในวันนี้ไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง อีกทั้งการควบคุมตัวต้องใช้หมายศาล คดีนี้ไม่มีการออกหมายจับ หรือหมายขังไว้ ดังนั้นนายปิยบุตรได้กลับบ้านไปรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ มาต่อสู้คดี

“ในฐานะที่ทำคดี 112 พอสมควร วันนี้เรามาพบพนักงานสอบสวนตามนัด ซึ่งชั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัว เนื่องจากไม่มีอำนาจ แต่รองผู้บัญชาตำรวจนครบาลที่มาภายหลังได้มาให้ความเห็นว่าน่าจะทำเงื่อนไขไว้ว่าให้อาจารย์มารายงานตัวทุก 7 วัน เพิ่มภาระนิดหน่อย เพราะคดีนี้คงใช้เวลาในการสอบสวนหลังจากนี้นานพอควร แต่เพื่อไม่ให้ตำรวจลำบากใจ อาจารย์จึงรับปากมารายงานตัวทุก 7 วัน ซึ่งอาจผิดปกติ เพราะปัจจุบันยังมีฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ยังไม่มีหมายศาลมาควบคุมตัวไว้ แต่เป็นความร่วมมือกัน และให้ความสะดวกกับพนักงานสอบสวน เราไม่เรียกว่าเป็นการให้ประกัน หรือปล่อยตัวชั่วคราว” นายกฤษฎางค์ กล่าว