“ก้าวไกล” อ้อนโค้งสุดท้ายขอ ส.ส.รัฐบาลโหวตผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”

“ก้าวไกล” อ้อนโค้งสุดท้ายขอ ส.ส.รัฐบาลโหวตผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”

“ก้าวไกล” อ้อนโค้งสุดท้ายขอ ส.ส.รัฐบาล ใช้เอกสิทธิ์ร่วมโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม “พิธา” ลั่นสู้ต่อไม่ว่าผลเป็นอย่างไร “ธัญวัจน์” เผยหน่วยงานรัฐอื่นเห็นด้วยหมด เหลือแค่ “กฤษฎีกา” มีปัญหา สะท้อนโครงสร้างอำนาจนิยม

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 1 วันนี้ ว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถือเป็นการเดินทางอันยาวไกล ตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ เราต้องขอบคุณประชาชน คณะทำงานของสภา และกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจนเข้าสู่การพิจารณา 

“ก้าวไกล” อ้อนโค้งสุดท้ายขอ ส.ส.รัฐบาลโหวตผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”

นายพิธา กล่าวอีกว่า ความเท่าเทียมแบบนี้ต้องคุยกันที่สารตั้งต้น คือ การเริ่มต้นที่กฎหมายเดียวกัน เปลี่ยนจากชายและหญิงให้เป็นบุคคล วันนี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรเราก็จะสู้ต่อไป โดยต้องรอฟังการอภิปรายของสมาชิก และฟังรายละเอียดของร่างกฎหมายอื่นๆ ว่าเป็นไปในทิศทางใด เราขอยืนยันว่าจะเดินหน้าสู้ต่อไปในชั้นกมธ. เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศอย่างแน่นอน ส่วนท่าทีในการโหวตก็จะรับฟังและหารืออีกครั้ง แต่พรรคก้าวไกล จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน คือเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่พรรคเสนออย่างแน่นอน

“ก้าวไกล” อ้อนโค้งสุดท้ายขอ ส.ส.รัฐบาลโหวตผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม”

ส่วนนายธัญวัจน์ กล่าวว่า ในการพิจารณาของสภาวันนี้ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะนำเหตุผลที่ไม่รับร่างกฎหมายเท่าเทียม ซึ่งตลอดระยะเวลา 60 วันที่ ครม.รับไปศึกษาพบว่า ทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมการปกครอง และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่เข้ามาให้ความเห็น ได้แสดงความเห็นด้วยกับการสมรสเท่าเทียม และไม่ได้มีปัญหาต่อการปฏิบัติงาน แต่ฝ่ายที่มีปัญหาคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์และทำงานกับคนที่มีปัญหา แต่เป็นหน่วยงานที่ทำกฎหมายเท่านั้น

นายธัญวัจน์ กล่าวด้วยว่า สะท้อนว่าประเทศไทยนั้นชินกับระบบจากบนลงล่าง และเป็นโครงสร้างการสื่อสารแบบอำนาจนิยม แม้มติวิปรัฐบาลจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่เราขอเรียกร้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่มีเอกสิทธิ์ให้ช่วยโหวตให้เรา สมาชิกทุกคนรู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร เราไม่ได้ขอสิทธิ แต่ขอคืนสิทธิที่ถูกพรากเอาไป ดังนั้น อย่าให้ประชาชนสิ้นศรัทธากับกลไกรัฐสภา หากประชาชนสิ้นศรัทธาหมายความว่าความมั่นคงของ ส.ส.จะไม่มีความหมาย วันนี้เราจะทำให้ ส.ส.มีความหมายด้วยการทำงานให้ประชาชน