อัยการรอหนังสือทางการจาก ทบ.ปมยุติผ่าเครื่อง “จีที 200”

อัยการรอหนังสือทางการจาก ทบ.ปมยุติผ่าเครื่อง “จีที 200”

ฝ่ายอัยการเผย รอหนังสืออย่างเป็นทางการจาก ทบ. ปมยุติการผ่าพิสูจน์เครื่อง “จีที 200” เหตุว่าจ้าง สวทช.ดำเนินการ หลังชนะคดีไปแล้ว

กรณีกองทัพบก (ทบ.) ดำเนินการว่าจ้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (จีที 200) จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหลักฐานประกอบการเรียกค่าเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิต จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการว่าจ้างที่มีราคาสูง เพราะตก 10,000 บาท/เครื่อง อย่างไรก็ดี พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ในฐานะโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงแล้วว่า ขณะนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่ต้องผ่าพิสูจน์แล้ว โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้ว 320 เครื่อง ดังนั้นเหลือเงินอีก 2-3 ล้านบาทที่ต้องส่งคืนหลวงต่อไป โดยหลังจากนี้จะรอหนังสือยืนยันจากอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างเป็นทางการว่า ทบ.ไม่ต้องตั้งงบประมาณเพื่อผ่าพิสูจน์เครื่องจีที 200 อีกนั้น

อ่านข่าว: ไส้ใน ทบ.ควัก 3.2 ล้านบาท จ้าง สวทช.ผ่าเครื่อง “จีที 200” หลังชนะคดี20 วัน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า หากกองทัพบกมีการส่งหนังสืออย่างเป็นทางการมาให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานงานอัยการฝ่ายคดีปกครองในสำนักงาน อสส.เป็นผู้พิจารณา และคาดว่าคงจะตอบไปตามที่รองโฆษก อสส.เคยแถลงข่าวไว้ก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) เปิดเผยในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหม ระบุถึงอัยการสูงสุด (อสส.) แนะให้ตรวจสอบจีที 200 ทุกเครื่อง โดยระบุสาระสำคัญคือ ข้อเท็จจริงคือ ข้อแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 แต่คดีนี้ ทบ.ชนะเอกชนเมื่อปลายปี 2564 ดังนั้นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีผลในทางคดีแล้ว

โดยข้อเท็จจริงทางคดีคือ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 กองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปกครองว่าต่างฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครอง กรณีซื้อขายเครื่องจีที 200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ยังไม่รวมดอกเบี้ย 683,900,000 บาท

เมื่อได้รับเรื่องมาจึงได้มอบเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ระหว่างตรวจสำนวน ทางพนักงานอัยการเห็นว่าการที่จะบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาหรือเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้นั้น เป็นสาระสำคัญที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงซื้อเป็นข้อยุติเพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสินคดี

โดยวันที่ 1 ก.ย. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาตามคำฟ้องที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ฟ้องไปว่า เครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่องเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษา ดังนี้ ให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561.64 บาท ใช้ธนาคารกสิกรไทย ชำระเงิน 56,856,438.87 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระ 6,195,452.5 บาท ยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่สอง เพราะเป็นผู้บริหาร และไม่ได้ความว่าทำเกินขอบข่าย ขอบเขตของนิติบุคคล