7 ปีหลัง บ.เอวิเอฯ ยังเป็นคู่สัญญา 3 เหล่าทัพ 334 ล้าน แม้เคยขาย “จีที 200”

7 ปีหลัง บ.เอวิเอฯ ยังเป็นคู่สัญญา 3 เหล่าทัพ 334 ล้าน แม้เคยขาย “จีที 200”

พบ 7 ปีหลังสุด 58-64 บ.เอวิเอ แซทคอมฯ ยังเป็นคู่สัญญา 3 เหล่าทัพ ทบ.-ทร.-ทอ. อย่างน้อย 56 สัญญา กว่า 334 ล้านบาท แม้เคยขาย “จีที 200” สุดท้ายแพ้คดีต้องชดใช้เงินให้กองทัพบกเมื่อปี 64

กรณีกองทัพบก (ทบ.) ดำเนินการว่าจ้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (จีที 200) จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหลักฐานประกอบการเรียกค่าเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิต จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการว่าจ้างที่มีราคาสูง เพราะตก 10,000 บาท/เครื่อง

อย่างไรก็ดีฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) โดยประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก อสส. เปิดเผยผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงประเด็นที่ ทบ.อ้างว่าส่งเรื่องถึง อสส.ให้พิจารณา โดย อสส.แนะนำว่าให้ ทบ.ตรวจสอบ “จีที 200” ทุกเครื่องนั้น ข้อเท็จจริงคือ ข้อแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 แต่คดีนี้ ทบ.ชนะเอกชนเมื่อปลายปี 2564 ดังนั้นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีผลในทางคดีแล้ว

โดยข้อเท็จจริงทางคดีคือ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 กองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปกครองว่าต่างฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครอง กรณีซื้อขายเครื่องจีที 200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ยังไม่รวมดอกเบี้ย 683,900,000 บาท

เมื่อได้รับเรื่องมาจึงได้มอบเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ระหว่างตรวจสำนวน ทางพนักงานอัยการเห็นว่าการที่จะบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาหรือเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้นั้น เป็นสาระสำคัญที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงซื้อเป็นข้อยุติเพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสินคดี

โดยวันที่ 1 ก.ย. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาตามคำฟ้องที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ฟ้องไปว่า เครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่องเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษา ดังนี้ ให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561.64 บาท ใช้ธนาคารกสิกรไทย ชำระเงิน 56,856,438.87 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระ 6,195,452.5 บาท ยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่สอง เพราะเป็นผู้บริหาร และไม่ได้ความว่าทำเกินขอบข่าย ขอบเขตของนิติบุคคล

ดังนั้นการว่าจ้าง สวทช.ของกองทัพบก ให้ตรวจสอบเครื่อง “จีที 200” ซึ่งจัดซื้อมาจากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จึงยังต้องรอคำชี้แจงจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ต้นสังกัดกองทัพบกว่า การดำเนินการดังกล่าวทำไปด้วยเหตุผลอะไร

อ่านข่าว: อสส.แจงไทม์ไลน์คดี “จีที 200” ทบ.ชนะปี 64 ชี้การพิสูจน์ไม่มีผลทางคดีแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ในฐานะโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงแล้วว่า ขณะนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่ต้องผ่าพิสูจน์แล้ว โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้ว 320 เครื่อง ดังนั้นเหลือเงินอีก 2-3 ล้านบาทที่ต้องส่งคืนหลวงต่อไป โดยหลังจากนี้จะรอหนังสือยืนยันจากอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างเป็นทางการว่า ทบ.ไม่ต้องตั้งงบประมาณเพื่อผ่าพิสูจน์เครื่องจีที 200 อีก

อ่านข่าว: ทบ.ไม่ผ่า GT200 แล้ว เตรียมคืนงบประมาณ 2- 3 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด คือผู้จัดจำหน่ายเครื่อง “จีที 200” ให้กับเหล่าทัพและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ระหว่างปี 2550-2553 รวมอย่างน้อย 23 สัญญา จำนวน 789 เครื่อง วงเงิน 711.486 ล้านบาท 

ข้อมูลของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ จดทะเบียนตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2535 ทุนปัจจุบัน 473,372,800 บาท ตั้งอยู่ที่ 19 ถนนพหลโยธิน แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประกอบกิจการ ขายอุปกรณ์สื่อสาร และรับจ้างซ่อมบำรุงรักษา 

ปรากฏชื่อ นางนัทธภัทร คงเจริญ นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ นางมณฑิรา วัฒนกิจ เป็นกรรมการ

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 มีบริษัท ลิบราเวย์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 67.3161% บริษัท ซาบ เอบี จำกัด (มหาชน) สัญชาติสวีเดน ถือรองลงมา 25.1% นายพีรพล ตระกูลช่าง นายพสิษฐ ตงศิริ และนายแมนเฟรด แม็กซิมิเลียน เกอร์ฮาร์ด คาร์เก้ (สัญชาติเยอรมนี) ถือคนละ 2.1125% 

พล.อ.อภิชิต กานตรัตน์ และนางสาว อรุณี ธารินเจริญ ถือคนละ 0.2113% ส่วนนางสาว พัลลภา ศรีเชียงหวาง นางสาว สุทธาวรรณ รักษาจันทร์ นายณทัต ราชเวชชพิศาล นายพิพัฒน์ ถาวรโลหะ และนางสาว นาฎวดี วัฒนกิจ ถือคนละ 0.1056% มีนายบรรณกร เพชรทวีธรรม นายสุรัตน์ แจ่มศรี และนายศรายุทธ ทุมทา ถือคนละ 0.845% ท้ายสุดมีนายสันติ เกลี้ยงเกิด ถือ 0.0422%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 53,732,907 บาท รายจ่ายรวม 64,720,095 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,317,481 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,304,669 บาท

แม้จะเกิดกรณีข้อพิพาทเรื่องการจัดซื้อ “จีที 200” แต่บริษัทแห่งนี้ยังคงได้รับความไว้วางใจเป็นคู่สัญญากับ “3 เหล่าทัพ” ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ อยู่

โดยระหว่างปีงบประมาณ 2558-2564 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นคู่สัญญากับ 3 เหล่าทัพ โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างซ่อมเครื่องมือสื่อสาร และระบบยุทโธปกรณ์ รวมอย่างน้อย 56 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบ) วงเงินอย่างน้อย 334.3 ล้านบาท ได้แก่

  • ปีงบประมาณ 2564 คู่สัญญา 3 สัญญา (กองทัพเรือ 2 สัญญา กองทัพอากาศ 1 สัญญา) รวมวงเงิน 15.13 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2563 คู่สัญญา 9 สัญญา (กองทัพอากาศ 5 สัญญา กองทัพเรือ 4 สัญญา) รวมวงเงิน 39.30 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2562 คู่สัญญา 9 สัญญา (กองทัพอากาศทั้งหมด) รวมวงเงิน 30.59 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2561 คู่สัญญา 8 สัญญา (กองทัพอากาศทั้งหมด) รวมวงเงิน 46.54 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2560 คู่สัญญา 1 สัญญา (กองทัพอากาศ) รวมวงเงิน 7.32 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2559 คู่สัญญา 8 สัญญา (กองทัพบก 1 สัญญา กองทัพอากาศ 8 สัญญา) รวมวงเงิน 62.14 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2558 คู่สัญญา 18 สัญญา (กองทัพบก 1 สัญญา กองทัพเรือ 3 สัญญา กองทัพอากาศ 14 สัญญา) รวมวงเงิน 133.28 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีทั้ง 56 สัญญาดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลถูกร้องเรียนถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแต่อย่างใด