บำนาญ "ส.ส.-ส.ว." vs "ข้าราชการ" - "งบช้างป่วย" สะเทือนก้าวไกล

บำนาญ "ส.ส.-ส.ว." vs "ข้าราชการ" - "งบช้างป่วย" สะเทือนก้าวไกล

ควันหลงการอภิปรายงบประมาณ2566 ท่ามกลางกระแสดราม่า"งบช้างป่วย" เทียบชัดๆระหว่าง "บำเน็จบำนาญข้าราชการ"vs "สมาชิกรัฐสภา"

“ตัวเลขที่สูงที่สุด ในงบประมาณชุดนี้ คือเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ งบเบี้ยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ มูลค่า 3 แสนกว่าล้าน สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาธิการทั้งกระทรวง ที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ อันนี้เป็นปัญหาช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ 40 กว่าเปอร์เซ็นของเม็ดเงิน พูดกันให้เห็นภาพรายได้ของประเทศ 100 บาท หาได้เองบ้าง กู้มาบ้าง 40 บาทแรก ใช้ไปเลยเกี่ยวกับรายจ่ายของบุคลากรของรัฐราชการ ที่อุ้ยอ้าย

ต่อมา เป็นเรื่องของงบประมาณต่างๆ ที่มีไว้เพื่อชำระอดีต ไม่ใช่อนาคต 100 บาทที่ผ่านมา 70 บาท เป็นเรื่องของอดีตทั้งหมด การจ้างข้าราชการในอดีต นโยบายในอดีต เหลืออยู่แค่ 30 บาทที่จะเอาไปแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ อันนี้เป็นปัญหาทำให้เราไม่มีพื้นที่ทางการคลังในการแก้ปัญหาอะไรเลย อันนี้เป็นโครงสร้างที่สำคัญมาก ที่จำเป็นที่ต้องลงรายละเอียดเพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียด”

เนื้อหาคำอภิปราย “งบช้างป่วย” โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่านเวทีอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในชั้นรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

กลายเป็นประเด็นดราม่าที่สร้างแรงสั่นสะเทือน มายัง“สภาผู้ทรงเกียรติ” โดยเฉพาะต้นสังกัดอย่าง “พรรคก้าวไกล” อย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

คล้อยหลังเพียง 1 วัน แม้ “พิธา” จะออกมาโพสเฟซบุ๊คชี้แจงดราม่า ชนิดยืนยันเสียงแข็งว่า ..... “Fake News” ข่าวปลอมที่กำลังแพร่ระบาดในกรุ๊ป Line - อย่าหลงเชื่อ พรรคก้าวไกล “ไม่มี” และ “ไม่เคยมี” นโยบายยกเลิกบำนาญข้าราชการ แต่เป็นเพียงการเสนองดการเพิ่มข้าราชการใหม่ ในงานที่ไม่จำเป็น

ทว่า กรณีที่เกิดขึ้น กลายเป็นคำถามที่ “ดังก้อง” ถึงขั้นที่มีการเปรียบเทียบกันระหว่าง“บำนาญข้าราชการ” และ “บำนาญของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ” ว่าอันไหนมีความจำเป็นและคุ้มค่ามากกว่ากัน?

บำนาญ \"ส.ส.-ส.ว.\" vs \"ข้าราชการ\" - \"งบช้างป่วย\" สะเทือนก้าวไกล

เทียบให้เห็นชัดๆ ในส่วนของอัตราการจ่ายเงิน “บำเน็จบำนาญข้าราชการ” ตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยอ้างอิงตัวเลขจากกรมบัญชีกลาง ณ ปัจจุบัน พบว่า  เงินบำเหน็จบำนาญ (สิทธิในบำเหน็จหรือบำนาญเป็นเช่นเดิม คือขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน) จากเงินงบประมาณ ซึ่งคำนวณจาก บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)

ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ขณะที่อัตราเงินเดือน “ข้าราชการ”  ประเภทต่างๆ 12 ประภท  ทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการศาลปกครอง ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ยกตัวอย่างในส่วนของ“ข้าราชการพลเรือน” ตามข้อมูลสำนักงาน ก.พ. ทั้งพลเรือนสามัญทั่วไป จะอยู่ระหว่าง 4,870 - 21,010 บาท  ระดับงานชำนาญงาน อยู่ที่ 10,190-38,750 บาท ระดับอาวุโส อยู่ที่ 15,420-54,820 บาท ระดับทักษะพิเศษ อยู่ที่ 48,220-69,040 บาท

พลเรือนสามัญวิชาการ จะอยู่ระหว่าง 7,140 -76,800 บาท แบ่งแยกตามระดับเป็นปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ พลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 19,860 -70,360 บาท แบ่งเป็นระดับต้นและสูง และ พลเรือนสามัญประเภทบริหาร มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่19,860 -70,360 บาท แบ่งเป็นระดับต้นและสูง เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนข้าราชการประเภทอื่นๆจะมีเงินค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไปตามลำดับขั้น

 

โดยปัจจุบัน ผู้มีสิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญจำต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือถ้าอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ขณะเดียวกัน หากมีอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับทั้งบำเหน็จและบำนาญ ขณะที่ผู้ที่มีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีแต่ไม่ถึง 25 ปี จะได้รับเฉพาะบำเหน็จ เป็นต้น 

ไม่ต่างไปจากฝั่ง “สภาผู้ทรงเกียรติ” ซึ่งมี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2556 ระบุให้ มีการตั้งกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เพื่อใช้จ่าย 6 รายการ ทั้งการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ ค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ ถึงแก่กรรม การให้การศึกษาบุตรและสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 

ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน โดยการหักเงินประจำตำแหน่งในอัตราตามที่คณะกรรมการกำหนด ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ของเงินประจำตำแหน่ง ทั้งนี้การจ่ายเงินสมาชิกรัฐสภา ที่สมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยให้ได้รับเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาสาหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 

บำนาญ \"ส.ส.-ส.ว.\" vs \"ข้าราชการ\" - \"งบช้างป่วย\" สะเทือนก้าวไกล

ตั้งแต่ 1 เดือนแต่ไม่ถึง 48 เดือน รับเดือนละ 9,000 บาท ตั้งแต่ 48 เดือนแต่ไม่ถึง 96เดือน รับเดือนละ 12,000 บาท ตั้งแต่ 96 เดือนแต่ไม่ถึง 144 เดือน รับเดือนละ 14,300บาท ตั้งแต่ 144 เดือนแต่ไม่ถึง 192 เดือน รับเดือนละ 17,800บาท

ตั้งแต่ 192 เดือนแต่ไม่ถึง 240เดือน รับเดือนละ 21,400 บาท ตั้งแต่ 240 เดือนแต่ไม่ถึง 288 เดือน รับเดือนละ 28,500 บาท และตั้งแต่ 288 เดือนขึ้นไป รับในอัตราเดือนละ 35,600บาท

ยังไม่นับรวมในส่วนการค่าใช้จ่ายอีก 5 รายการที่เหลือ ซึ่ง “อดีตสมาชิกรัฐสภา” จะได้รับในห้วงที่ไร้หัวโขนในสภา  

ต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นคำถามที่ถูกหยิบมาดีเบต ในห้วงหลายวันที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยัง “ค่ายสีส้ม” โดยเฉพาะ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในฐานะต้นเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้