ย่างก้าว "ชัชชาติ" จาก "เพื่อน" สู่ "พรรคทางเลือก"

ย่างก้าว "ชัชชาติ" จาก "เพื่อน" สู่ "พรรคทางเลือก"

อารมณ์ของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย คิดฝันกันไปไกลถึงขั้นยกให้ "ชัชชาติ" เป็น "นายกรัฐมนตรี" ในฝัน เพราะเบื่อความขัดแย้งของ "ขั้วลุง" กับ "ขั้วโทนี่" เต็มทนแล้ว

ผ่านไป 3 ปี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เปล่งประกายผู้นำแห่งอนาคต มิเพียงแค่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากมองไกลไปถึงนายกรัฐมนตรี

ถ้าจำกันได้ ฤดูเลือกตั้ง 2562 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ ถูกวางตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย แต่ผลการเลือกตั้งใน กทม. เพื่อไทยประสบความล้มเหลว เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่

พลันที่ ชัชชาติ สลัดภาพเพื่อไทย ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กลับสร้างปรากฏการณ์ ชัชชาติแลนด์สไลด์ ซึ่งชัยชนะของเขามาจากเหตุปัจจัย 3 ประการ

1.บุคลิกภาพแบบผู้บริหารมืออาชีพ ไม่ทะเลาะกับใคร แสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย

2.คนกรุงเทพฯเหนื่อยล้า จึงมองข้ามความขัดแย้ง และต้องการคนทำงาน

3.การไม่ได้อิงแอบฝ่ายใด จึงได้คะแนนจากทั้งฐานพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อไทย

จุดแข็งของชัชชาติคือ ความเป็นอิสระ และความหลากหลาย อันสะท้อนถึงการแต่งตั้งคณะผู้บริหาร หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 ณ ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า

รองผู้ว่าฯ กทม. 4 คน ประกอบด้วย จักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. , วิศณุ ทรัพย์สมพล อดีตรองอธิการบดี จุฬาฯ , ทวิดา กมลเวชช อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพัฒนาเมือง SATARANA

คณะที่ปรึกษา 9 คน ต่อศักดิ์ โชติมงคล อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ , เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ , พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม , วิลาวัลย์ ธรรมชาติ อดีต ส.ก.เขตจตุจักร พรรคเพื่อไทย ,​ พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  , อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. , ภาณุมาศ สุขอัมพร เครือข่ายผู้พิการสื่อสารสังคม และพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์

ส่วน เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. คือ ภิมุข สิมะโรจน์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท SUSCO จำกัด (มหาชน)

ถ้านำแว่นการเมืองไปส่องที่รองผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ใช่จุฬาฯคอนเนกชั่นทั้งหมด หรือสแกนคณะที่ปรึกษาบางคน แล้วด่วนสรุปว่ามาจากสายพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่

ในกลุ่มรองผู้ว่าฯ กทม. น่าจับตาบทบาทของ ทวิดา กมลเวชช อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นทางทีวีบางช่อง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่ภัยพิบัติ” หรือเลดี้ ดิแซสเตอร์ (Lady Disaster)

ทวิดา เป็นบุตรสาวของทวีศักดิ์ กมลเวชช อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท และ ส.ก.เขตบางพลัด พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2544 โดยในยุคผู้ว่าฯอัศวิน ทวีศักดิ์เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าฯ กทม. ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ชื่อ ต่อศักดิ์ โชติมงคล อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และศิษย์เก่าคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 18 (วศ. 18) เป็นรุ่นพี่ของชัชชาติ

สองปีที่แล้ว ชัชชาติได้มาปรึกษาหารือกับต่อศักดิ์เรื่องจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และนับจากวันนั้น ต่อศักดิ์ก็กระโจนเข้ามาวางยุทธศาสตร์สู่ทำเนียบเสาชิงช้า และตั้งกลุ่มเพื่อนชัชชาติขึ้นมาทำงาน ทำงาน และทำงาน

ต่อศักดิ์ โชติมงคล คือใคร? เขาเป็นผู้บริหารงานภาครัฐ และนักธุรกิจที่ไม่อิงขั้วข้างการเมืองใดๆ แต่มากด้วยคอนเนกชั่น ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก 

คอการเมืองอาจโฟกัสชื่อ “ใหญ่” วิลาวัลย์ ธรรมชาติ อดีตมือพีอาร์ค่ายดีแทค ไยจึงมาโผล่เป็นที่ปรึกษาชัชชาติ มองชั้นเดียวเชิงเดียว เธอเป็นอดีต ส.ก.เขตจตุจักร พรรคเพื่อไทย

จริงๆ แล้ว วิลาวัลย์ไม่ใช่คนแปลกหน้าของศาลาว่าการ กทม. เพราะปี 2543 เธอเข้าไปช่วยงาน มุสตาฝ้า หมันงะ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ฝ่ายบริหารและการคลัง สมัยผู้ว่าฯ สมัคร

หมดยุคผู้ว่าฯ สมัคร ใหญ่-วิลาวัลย์ ก็ลงสมัคร ส.ก.เขตจตุจักร ในสีเสื้อพรรคเพื่อไทย และเป็น ส.ก.อยู่สมัยหนึ่ง จึงหันไปสมัคร ส.ส.กทม. เขต 9 จตุจักร ปี 2554 แต่แพ้อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรค ปชป.

ที่มีสีสันในคณะผู้บริหารชุดชัชชาติคือ ภิมุข สิมะโรจน์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท SUSCO จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคกล้า

เอ้ ภิมุข เป็น ส.ส.กทม.เขตบางพลัด พรรคไทยรักไทย 2 สมัย ก่อนจะวางมือหลังพรรคถูกยุบ ช่วงหนึ่ง เอ้ไปช่วยอิทธิพล คุณปลื้ม หาเสียงเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และช่วยงานเมืองพัทยามาระยะหนึ่ง จึงถูกสุวิทย์ คุณกิตติ ชวนมาช่วยงานที่องค์การสวนสัตว์ฯ

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เอ้ ภิมุข เป็นลูกชายของ “เสี่ยหมง” มงคล สิมะโรจน์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. สมัย ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2518

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2528 เสี่ยหมง จับมือนักวิชาการและนักธุรกิจ ตั้งกลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า เพื่อสนับสนุนตัวเขาเองลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็พ่ายกระแสจำลองฟีเวอร์

นี่คือหนังตัวอย่างของคณะผู้บริหาร กทม.ยุคชัชชาติ ที่มาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ และมันจะพัฒนาไปสู่พรรคการเมืองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผลงานผู้ว่าฯ ขวัญใจมหาชนคนนี้

อารมณ์ของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย คิดฝันกันไปไกลถึงขั้นยกให้ชัชชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีในฝัน เพราะเบื่อความขัดแย้งของขั้วลุงกับขั้วโทนี่เต็มทนแล้ว