เสธ ทอ. ย้ำ f-35 ตอบโจทย์ ทดแทนเครื่องบินเก่า หากไม่ผ่านงบฯ ปี 66 เสนอต่อปีหน้า

เสธ ทอ. ย้ำ f-35 ตอบโจทย์ ทดแทนเครื่องบินเก่า หากไม่ผ่านงบฯ ปี 66 เสนอต่อปีหน้า

เสธ ทอ.นำเยาวชนชมภาพยนต์ "ท็อปกัน2" สร้างแรงบันดาลใจเรื่องความมั่นคง ย้ำ ซื้อ f-35 ตอบโจทย์ ทดแทนเครื่องบินรบทยอยปลดประจำการ หากไม่ผ่านงบ 66 เตรียมเสนอต่อปีหน้า

1 มิ.ย.2565 ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต  พล...พันธ์ภักดี  พัฒนกุล เสธ ทอ. เป็นประธานในการจัดกิจกรรม Road To Top Gun ทับฟ้าพาฝันปั้นนักบินรบ" ด้วยการนำเยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่รอบกองทัพอากาศมารับชมภาพยนตร์เรื่อง  "ท็อปกัน มาเวอริค

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า
วัตถุประสงค์หลักก็คือการสร้างแรงบันดาลใจต่อเยาวชนผ่านสื่อ ถือเป็นช่องทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้เยาวชนหันกลับมามองในเรื่องของความมั่นคงความเป็นทหารและอยากเข้ามาร่วมงานกับกองทัพอากาศ ซึ่งจุดเริ่มต้นในวันนี้อาจจะเป็นจุดที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ถ้าเมื่อไหร่ที่เยาวชนอยากเป็นทหาร ถือเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญที่สุดเมื่อเข้ามาเป็นทหารแล้วต้องเสียสละชีวิตปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องอธิปไตย

เมื่อถามว่า ภาพยนต์  ท็อปกัน มาเวอริค
มีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เครื่องบินขับไล่โจมตี f-18  และ F-35  เราจะได้รับประโยชน์อย่างไร พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า
เรื่องเทคโนโลยีและอากาศยานสมัยใหม่เป็นเรื่องที่เราจะต้องตามให้ทัน หากตามไม่ทันเราจะเสียเปรียบ หากจะเปรียบเทียบ f -35 จำนวน 1 เครื่อง สามารถต่อกรกับ f-16 จำนวน 3.27 เครื่อง หมายความว่าถ้าในอนาคตเราจะมี f-35 ซึ่งไม่ได้มาก แต่มีในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อมาทดแทนเครื่องบินของกองทัพอากาศที่กำลังจะปลดประจำการ อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญที่สุด เราจะได้เรียนรู้และก้าวทันเทคโนโลยีในอนาคต ไปพร้อมๆกับประเทศชั้นนำ ในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 

ก็ถือเป็นโอกาสดีของกองทัพอากาศที่จะได้พัฒนาเทคโนโลยี อากาศยาน ซึ่งเราก็มองว่าเราไม่ได้เตรียมอาวุธเอาไว้รบกับใคร แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องมีก็คือต้องปกป้องอธิปไตยของเราได้และต้องมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ว่าการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับ และความมั่นคงในการรักษาอธิปไตย ให้อยู่ในความเหมาะสมและลงตัวที่สุด กองทัพอากาศจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง และให้สัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างประชาชน 

ส่วนที่มองว่าการเตรียมรับมือภัยคุกคาม จะตอบโจทย์ต่อการจัดซื้อ F-35 ซึ่งอาจจะดูใหญ่โตเกินไปหรือไม่นั้น ตนมองว่าสงครามที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เรารู้ล่วงหน้าไม่นานว่ารัสเซียจะบุกยูเครน และเกิดความเสียหายมหาศาล ประชาชนอพยพไปประเทศข้างเคียงได้ แต่ของไทย หากมีปัญหา และไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นหากมีการอพยพ แล้วจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าวันนี้เราไม่เริ่มในวันข้างหน้าหากมี ภัยสงครามเกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร ก็จะเป็นตราบาปของกองทัพอากาศที่ไม่คิดวางแผนในการป้องกันประเทศเสียแต่เนิ่นๆ ถือว่าเราทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญและจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กองทัพอากาศทำงานกันหนักมากซึ่งเรามองว่าตั้งแต่ปี 2565-2575 เราจะต้องทยอยปลดประจำการเครื่องบินรบเพราะเครื่องบินเก่า จะมีค่าซ่อมบำรุงที่สูงมาก บางแบบค่าซ่อมบำรุง 3-5 เท่า หรือ 700,000-1,000,000 ต่อ 1 เครื่องบิน แต่ประสิทธิภาพก็เท่าเดิม ซึ่งเรามองว่าหากเราต้องปลดประจำการเครื่องบินรบออกไป 3 ฝูงบิน เราจะไม่มีโอกาสทดแทน 3 ฝูงบินแน่นอน เราจึงมาพิจารณาว่าเครื่องบินแบบไหนที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพ 1 ฝูงบิน แต่สามารถทดแทนได้ 3 ฝูงบิน สรุปว่า f-35 ตอบโจทย์ที่สุด ที่สำคัญยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพอากาศไทยกับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่มีมาอย่างยาวนาน  เพราะส่วนใหญ่เราใช้อุปกรณ์ทางด้านการบินของสหรัฐซึ่งเราสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดทำให้กองทัพอากาศมีความพร้อมในการป้องกันภัยคุกคามได้ในอนาคตสามารถเอา f35 มาทดแทน ที่เราจะปลดประจำการ ได้ทั้งหมด

ในขณะนี้กองทัพอากาศก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและทำทุกอย่างให้เป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขแต่เงื่อนไขของการอนุมัติจากทางสหรัฐเป็นเรื่องของทางสหรัฐ ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้แต่ความพร้อมของกองทัพอากาศ ที่จะปฏิบัติภารกิจกับ f 35 มีการเตรียมกำลังพลสถานที่ถือว่าเรามีความพร้อมที่สุด

เมื่อถามว่า กองทัพอากาศถูกโจมตีว่าซื้อ f -35 มาจำนวน 2 ลำแต่ไม่มีระบบอาวุธ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ทีโออาร์ ค่อนข้างจะเป็นความลับ ซึ่งสเปคจากขั้นต้นที่เรากำหนดก็คือ เราต้องการให้ระบบอาวุธของ f -35 ใช้งานกับระบบอาวุธที่เรามีอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะเราก็มีของทันสมัยอยู่ นอกจากนี้เรายังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถซื้อเป็นแพ็คเกจใหญ่ได้ ในเบื้องต้นกว่าอากาศยานจะมากว่าจะฝึก และพร้อมปฏิบัติภารกิจ อีกประมาณ 10 ปี ดังนั้นอาวุธอากาศยานอาจจะมีการพัฒนาไปอีกมหาศาล ทั้งเรื่องของไฮสปีด จรวดมิสไซล์หรือการโจมตีทางอากาศ  เรามองว่าระบบอาวุธพัฒนาไปเร็วมากหากเราไปกำหนดตอนนี้ อาจจะล้าสมัยและไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ จึงมีการระบุว่า F -35 จะต้องใช้งานกับระบบอาวุธของกองทัพอากาศที่มีอยู่ได้

" ขอย้ำว่างบประมาณในการจัดซื้อ f -35 ถ้าหากได้ ก็เป็น งบประมาณของกองทัพอากาศ งบประมาณปี 2566  จำนวนกว่า 700 กว่าล้านบาท ในการที่จะเริ่มต้นโครงการ เช่น ปรับปรุงสถานที่อุปกรณ์สนับสนุนการบิน และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบินซึ่งอาจจะไม่ต้องจ่ายทั้งลำก็ได้  แต่ถ้าเริ่มต้นช้าก็อาจจะต้องยืดเวลาออกไปและอาจจะทบทวนโครงการอีกซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ผบ. ทอได้ให้คณะทำงานได้มาวิเคราะห์ และมีการสัมมนาทางด้านยุทธการระดมผู้เชี่ยวชาญของกองทัพอากาศทั้งหมด ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านความมั่นคงและการเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในอนาคต สรุปเป็นแนวทางจึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา  และถ้าหากไม่ผ่านในงบประมาณปี 2566 ก็ต้องยื่นต่อนายงบประมาณปี 2567 เพราะเป็นโครงการที่จะมาทดแทนในสิ่งที่เรากำลังจะขาด และวิเคราะห์ว่าจะมีปัญหาในอนาคตแน่นอน ไม่ได้สร้างใหม่ในสิ่งที่เรามีอยู่ให้เกินเลย"