“ชัยวุฒิ”ย้ำPDPAมุ่งคุ้มครองสิทธิ์ปชช.ถ่ายรูป-โพสต์ต้องไม่กระทบสิทธิ์

“ชัยวุฒิ”ย้ำPDPAมุ่งคุ้มครองสิทธิ์ปชช.ถ่ายรูป-โพสต์ต้องไม่กระทบสิทธิ์

“ชัยวุฒิ” ย้ำเจตนากฎหมาย PDPA มุ่งคุ้มครองข้อมูล-สิทธิ์ ปชช. แจงปมถ่ายรูป-โพสต์รูป หากไม่เสื่อมเสีย-ละเมิดสิทธิทำได้ ขอ ปชช.อย่ากังวล

วันนี้ (31 พ.ค.65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.65 นี้ จะเป็นวันสำคัญที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ) หรือที่เรียกกันว่า PDPA ซึ่งย่อมาจาก Personal Data Protection Act จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ที่ใช้ติดต่อธุรกิจ ติดต่อร้านค้าต่างๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ในการทำธุรกรรม 

ซึ่งเดิมอาจมีกิจการอื่น เช่น บริษัทประกันภัยชีวิต ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ นำข้อมูลของเราเหล่านี้มาใช้ในเชิงธุรกิจ หรือติดต่อเพื่อเสนอสินค้าบริการให้กับเรา โดยที่เราไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ร้านค้าหรือธุรกิจที่เก็บข้อมูลของเรา จะต้องเก็บให้ดี ห้ามรั่วไหล หรือห้ามเอาไปขาย หรือเอาไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งอันนี้มีความผิดตามกฎหมายนี้
 

“ประชาชนก็จะมีสิทธิ์ในข้อมูลของตัวเอง ถ้าท่านไม่ให้ความยินยอมร้านค้า หรือธุรกิจที่เอาข้อมูลของท่านไป จะเอาข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์จริงๆในการคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเพื่อให้มีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับกิจการร้านค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น” นายชัยวุฒิ ระบุ

ส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ PDPA ในส่วนของเรื่องการถ่ายภาพ หรือโพสต์ภาพนั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การที่เราไปถ่ายภาพแล้วไปติดบุคคลอื่นเข้ามาในภาพ ซึ่งเราไม่รู้จักแล้วติดโดยบังเอิญ อันนี้ไม่มีความผิด แม้ว่าเราจะเอาภาพนั้นไปโพสต์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่ได้ไปทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเกิดความเสื่อมเสีย ไม่มีความผิด อันนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม PDPA  
 

รวมไปถึงกรณีกล้องวงจรปิดที่เราติดไว้ที่บ้าน แล้วไปติดภาพของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าเราไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นข้อมูลที่เราเก็บไว้เพื่อป้องกันอาชญากรรมก็ไม่มีความผิด ในทางกลับกัน หากข้อมูลของท่านมีการรั่วไหล มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ท่านสามารถร้องเรียนได้ตามกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้ดังกล่าว

“กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกย่อๆ ว่า PDPA มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสารของท่าน ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของท่านได้รับความคุ้มครอง ไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งจะไปเอาผิด หรือลงโทษใคร เพราะฉะนั้นไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ เพราะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคนแน่นอน” นายชัยวุฒิ กล่าว