สภาฯเห็นชอบ รายงานเสนอกม.บำนาญแห่งชาติ แนะแก้ กม.ผู้สูงอายุ ทำกองทุน

สภาฯเห็นชอบ รายงานเสนอกม.บำนาญแห่งชาติ แนะแก้ กม.ผู้สูงอายุ ทำกองทุน

กมธ.สวัสดิการสังคม เสนอรายงานแนวทางออกกฎหมายบำนาญ แนะแก้ กม.ผู้สูงอายุ ปรับกองทุนให้ยืดหยุ่น แบ่งภาษีบาป อุดหนุนกองทุน ด้าน "ส.ส." สนับสนุนจ่ายบำนาญถ้วนหน้าผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาท

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมสภาฯ ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้เห็นชอบรายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การสวัสดิการสังคม เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ที่มีน.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกมธ.

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานฉบับดังกล่าวสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่อเป็นระบบบริหาร ที่มีความยืดหยุ่น และลดปัญหาด้านงบประมาณที่จะกลายเป็นภาระของรัฐ โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน ต้องใช้งบปะมาณ ปีละ 7.7หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวปัจจุบันมีกองทุนผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ  พ.ศ.2546  ให้เป็น รร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ดังนั้นในแนวทางที่เป็นไปได้ ควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และปรับปรุงที่มารายได้และการบริหารงาน 

 

             “รายได้ที่ควรกำหนด คือ ทุนประเดิมจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ เงินงบประมาณประจำปี เงินบำรุงจากผู้เสียภาษีสรรพสามิต เงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ รวมถึงเงินอุดหนุนจากต่างประเทศองค์กรต่างประเทศ นอกจากนั้นควรพิจารณาจากค่าบำรุง ที่มาจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินบำรุงจากค่าแบ่งสัมปทาน ในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ และกสทช.” รายงานระบุ

             ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายงานดังกล่าวยังมีข้อเสนอแนะว่า สิทธิของบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ต้องเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับแม้ประชาชนบางส่วนจะได้รับสวัสดิการบำนาญจากกองทุนการออมภาคบังคับอื่นแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงสิทธิบำนาญจากกองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และสิทธิในการรับเบี้ยความพิการ  สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นที่ประชาชนได้รับ ควรให้สิทธิประชาชนเลือกสิทธิที่ดีกว่า  

 

             สำหรับการอภิปรายของส.ส. จำนวน 24 คนนั้น มีความเห็นสนับสนุนและต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันการตรากฎหมายบำนาญประชาชน ด้วยการจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท แบบถ้วนหน้า ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นยังแสดงความเห็นด้วยว่าต้องการให้รรัฐบาลกำหนดที่แหล่งรายได้ ซึ่งเป็นที่มาของงบประมาณในส่วนดังกล่าวให้ชัดเจน