"นายกฯ" ให้ นโยบาย ปราบยาเสพติด ยึดทรัพย์ ตัดท่อน้ำเลี้ยง สาวถึงตัวนายทุน

"นายกฯ" ให้ นโยบาย ปราบยาเสพติด ยึดทรัพย์ ตัดท่อน้ำเลี้ยง สาวถึงตัวนายทุน

"นายกฯ" เน้นย้ำ รัฐ เอกชน ปชช. บูรณาการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร มุ่งให้ความสำคัญกับ “หมู่บ้าน – ชุมชน” ตั้งเป้าลดจำนวนนักเสพหน้าใหม่ ทำลายเครือข่ายการค้า ตัดท่อน้ำเลี้ยงขบวนการ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มุ่งหวังให้ยาเสพติด หายไปจากสังคมไทย

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวมอบนโยบายการติดตามผลการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด  โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ และนายดิสทัตโหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้  

 

นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานการปฏิบัติการผ่านระบบ Cisco Webex Meetings "ยุทธการพิทักษ์ไทย ยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด" ครั้งที่ 1/2565 โดยมีการขออนุมัติหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 29 ราย กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ 29 จุด 9 จังหวัด และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2564 เป็นต้นมา ได้มีการอนุมัติเงินรางวัลจากการขยายผลคดียาเสพติด จำนวน 590 คดี เป็นจำนวนเงินกว่า 75 ล้านบาท

 

จากนั้น นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานในการมอบเงินรางวัลการดำเนินการขยายผลตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรงยุติธรรมเป็นผู้มอบเงินรางวัล จำนวน 4 ราย 

พร้อมกันนี้  Mr. Max Lenormand FANC Executive Committee หัวหน้าตำรวจสวีเดนประจำประเทศไทยในฐานะเลขานุการกลุ่มเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณแด่นายกรัฐมนตรี เพื่อแทนความขอบคุณ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ ในความพยายามมุ่งมั่น ความทุ่มเท ความร่วมมือระหว่างประเทศและการทำงานอย่างมืออาชีพในการต่อสู้กับยาเสพติดและอาชญากรรมระหว่างประเทศ 

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายข้อสั่งการในพิธีเปิดการติดตามผลการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ว่า รัฐบาลกำหนดให้ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานจะต้องเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งทุกคนต่างรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติดที่มีผลกระทบต่อครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และมุ่งหวังให้ยาเสพติด หายไปจากสังคมไทย

ซึ่งขณะนี้มีประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ถือเป็นการพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติด เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทยที่สร้างความสมดุลระหว่างการปราบปราม การป้องกันและการบำบัดรักษา โดยมีการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 24 ฉบับ มาไว้เป็นฉบับเดียว เพื่อให้มีความสะดวกต่อการใช้งานลดความซับซ้อน นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก เข้าใจกฎหมายได้ง่าย และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและการใช้บังคับกฎหมายอย่างเป็นระบบในการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติด รวมทั้ง มีการปรับปรุงการกำหนดโทษของผู้ค้ายาเสพติด จากเดิมที่กำหนดโทษรุนแรง โดยไม่แยกความผิดร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง เป็นการลดโทษความผิดที่ไม่ร้ายแรงและเน้นลงโทษผู้ค้าหรือขบวนการมากกว่า เปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสม มีทางเลือกอื่นแทนการจำคุก เพื่อลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดรายเล็กได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนที่ดีของสังคม ขณะที่ในส่วนของผู้เสพ จะมุ่งเน้นนำวิธีทางสาธารณสุขมาแก้ปัญหา โดยมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และเปิดช่องให้สามารถนำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายที่ได้มอบไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และตัวชี้วัดให้ชัดเจน ซึ่งจากการรายงานผลการดำเนินงานในวันนี้ทุกหน่วยงานได้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดทรัพย์สิน ในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือน สามารถดำเนินการได้แล้วกว่า 4,000 ล้านบาท จึงขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งต่อไป เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่อาจจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไป และกลุ่มนักค้ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวทางในการขายยาเสพติดในรูปแบบใหม่ ๆ  รวมถึงกลุ่มผู้เสพมีการผันตัวไปเป็นนักค้ายาเสพติด และมีผู้เสพยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้น จึงเน้นย้ำการแก้ปัญหาในขณะนี้ คือ การลดจำนวนผู้เสพยาให้มีจำนวนน้อยลงมากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามหลักDemand – Supply โดยให้ความสำคัญกับ “หมู่บ้าน – ชุมชน” โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของแผนงานและงบประมาณ เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแล สร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนนักเสพหน้าใหม่

 

ขณะที่ในส่วนของการปราบปราม นายกรัฐมนตรี ย้ำไม่ได้มุ่งเน้นถึงการตรวจยึดปริมาณยาเสพติด แต่มุ่งทำลายเครือข่ายการค้า และการขยายผลไปสู่นายทุน โดยใช้การยึดและอายัดทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของขบวนการยาเสพติดควบคู่ไปกับการเพิ่มเงินรางวัลในการขยายผลยึดทรัพย์สินมากขึ้นถึงร้อยละ 30 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงาน และไม่รับเงินสินบนจากผู้ค้า โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องซื่อสัตย์สุจริตทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติโดยไม่หวังผลตอบแทนด้วยความเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติและยึดหลักมาตรฐานสากล

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 ที่ได้ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งวันนี้มีความคืบหน้าของการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายใหม่ รวมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค ที่จะเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่  อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันสร้างความรู้ให้ทุกคนตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันระมัดระวังป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน เพื่อแบ่งเบาภาระในการป้องปรามยาเสพติด พร้อมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจรและเป็นระบบ รวมทั้งความร่วมมือในการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อต่อต้านยาเสพติดที่เป็นภัยร้ายบ่อนทำลายประเทศชาติและเยาวชน 

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการสรุปภาพรวมการจับกุม การขยายผลเครือข่ายขนยาเสพติด การยึดทรัพย์จับกุมในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเชียงราย รวมทั้งพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ พื้นที่ชายแดนภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น  พร้อมเยี่ยมชมงานการขายทอดตลาดทรัพย์สินคดียาเสพติด ซึ่งเป็นทรัพย์สินคดีที่ไม่เหมาะสมในการเก็บรักษา และทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน ณ สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง ประกอบด้วย 1) ทรัพย์สินที่ไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าประโยชน์อย่างอื่น ประกอบด้วย ยานพาหนะ จำนวน 30 รายการ ราคาประเมินรวม7,032,000 บาท และโมเดล จำนวน 100 รายการ ราคาประเมินรวม 535,000 บาท 2) ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัยหายาเสพติด ประกอบด้วยทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ พระเครื่อง ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นาฬิกา รวมจำนวน 3,184 รายการ ราคาประเมินรวม 82.63 ล้านบาท