ม็อบ-ตัวแทนรัฐถกเดือด! ปมบังคับใช้ ม.112 ชี้หลักทำคดี-ประกันตัวไร้มาตรฐาน

ม็อบ-ตัวแทนรัฐถกเดือด! ปมบังคับใช้ ม.112 ชี้หลักทำคดี-ประกันตัวไร้มาตรฐาน

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกปมการบังคับใช้ “ม.112” ตัวแทนม็อบชี้หลักเกณฑ์ดำเนินคดี การประกันตัวไร้มาตรฐาน ตัวแทน ตร.ยัน ต้องดูเจตนาอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯหรือไม่ ตัวแทนศาลเผยการปล่อยตัวชั่วคราวขึ้นกับดุลพินิจผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 ทีมสื่อสาร พรรคก้าวไกล เผยแพร่ข้อมูลการประชุมของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.พัฒนาการเมือง) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยเชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือในญัตติที่เสนอโดย น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ต่อกลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกรณีจัดกิจกรรมร่วมรับขบวนเสด็จ รวมถึงกรณีของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมซึ่งถูกดำเนินคดีและปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในขณะนี้

โดยมีการเชิญตัวแทนจากทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ สน.นางเลิ้ง), สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนเครือข่ายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ตัวแทนกลุ่มราษฎร กลุ่มมังกรปฏิวัติ และกลุ่มทะลุวัง 

ในการประชุมมีการซักถามและตอบข้อซักถามชี้แจงในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล ใช้ในการพิจารณาว่าเรื่องใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112  และหลักเกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นไร เนื่องจากในปัจจุบันนี้ กระบวนการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีปัญหาการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ทั้งที่ยังไม่ถูกพิจารณาคดีว่าเป็นความผิด, การใช้กำไลควบคุมผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ทั้งที่เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพ, การไม่สามารถพูดหรือวิจารณ์ใด ๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี

รวมทั้งการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าการเคลื่อนไหวใด ๆ เมื่อพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทันที อย่างเช่น กรณีนายสมบัติ ทองย้อย ที่โพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ถูกพิพากษาว่าผิดมาตรา 112 ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ม็อบ-ตัวแทนรัฐถกเดือด! ปมบังคับใช้ ม.112 ชี้หลักทำคดี-ประกันตัวไร้มาตรฐาน

ในฝ่ายของผู้บังคับใช้กฎหมาย มีการชี้แจงจากทั้งตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ และสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าในทางปฏิบัติ เมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 112 เกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องดูที่เจตนาของผู้ถูกกล่าวหา ว่ามีเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่
    
ขณะที่การพิจารณาเงื่อนไขการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า โดยหลักเมื่อมีการขอฝากขัง ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข รวมทั้งการติดกำไล EM ในแต่ละกรณีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแต่ละคน โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดพฤติการณ์ในแต่ละกรณีไป พร้อมยืนยันว่าการติดกำไล EM ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวคดี อีกทั้งการติด EM ยังเป็นหลักประกันให้ผู้ถูกกล่าวหาได้กลับบ้านโดยไม่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ

ส่วนการเพิกถอนสิทธิประกันตัวนั้น ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า เป็นคนละส่วนกับการสืบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ การถอนประกันอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ตีความว่ามีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขประกันที่ได้กำหนดไว้ได้ โดยการใช้ดุลพินิจ อาศัยเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่ได้เป็นกรอบที่ตายตัวมีความยืดหยุ่น ให้ผู้ต้องหาแต่ละคนให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการชี้แจง มีการโต้แย้งซักถามโดยตัวแทนของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเยาวชน ที่ตั้งคำถามถึงเกณฑ์ต่าง ๆ โดยระบุว่าจากที่มีการชี้แจงมาทั้งหมด ก็ยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ตลอดจนการให้หรือไม่ให้ประกันตัวในแต่ละคดีคืออะไรกันแน่ และในหลายกรณียังเต็มไปด้วยความไม่ได้สัดส่วนอีกด้วย

ม็อบ-ตัวแทนรัฐถกเดือด! ปมบังคับใช้ ม.112 ชี้หลักทำคดี-ประกันตัวไร้มาตรฐาน

น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือ “เมนู” ตัวแทนจากกลุ่มทะลุวัง ระบุว่า ตามหลักของกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาจนถึงที่สุดเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด จะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ กิจกรรมที่ตัวเองและเพื่อนทำจนถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 คือการทำโพล ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม สร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยการติดสติ๊กเกอร์ เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวเองยืนยันและพร้อมต่อสู้คดีว่าไม่ใช่ความผิด การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

ในส่วนของ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” แกนนำกลุ่มราษฎร ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ในแทบจะทุกกรณีที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เจตนา จนนำไปสู่คำถามว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้ใช้เกณฑ์อะไรกันแน่ ในการแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดตามมาตรา 112

น.ส.ภัสราวลี ระบุอีกว่า ในสถานการณ์การเมืองที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเกี่ยวข้องทางการเมืองสูงมาก ควรจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนพูดถึงได้ ในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในสถาบันใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน การบังคับใช้ 112 จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน สมเหตุสมผล ขยายความให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างกระจ่าง ว่าบังคับใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมก่อน

“การบังคับใช้มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลักก่อน เพราะการกล่าวหาทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งทั้งตำรวจ อัยการ กระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย” น.ส.ภัสราวลี กล่าว

ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ ระบุว่า สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จนถึงวันนี้ มีคนถูกดำเนินคดีถึงร้อยกว่าคดีแล้ว และกำลังทำให้เยาวชนจำนวนมากถูกผลักให้เป็นคนผิดเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่งหรือเพียงตั้งคำถาม โดยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยเรื่องนี้ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สังคมจะยิ่งแตกร้าวมากขึ้น

“ท่านปฏิบัติต่อเยาวชนเหล่านี้ราวกับพวกเขาเป็นนักโทษคดีฆ่าข่มขืนต่อเนื่อง ทั้งที่จริงเป็นเพียงเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ยิ่งมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้มากๆ ก็ยิ่งไม่อาจทำให้เยาวชนมีความรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น และกลับจะยิ่งรู้สึกว่าเป็นฝั่งตรงกันข้ามมากขึ้นด้วย” นายปดิพัทธ์ กล่าว

นายปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า ว่าการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทุกวันนี้เป็นไปอย่างไม่มีมาตรฐาน เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลต่างก็ต้องเหนื่อย ทั้งที่รู้ว่าอาจจะไม่ผิดแต่ก็ต้องจับและดำเนินคดีไว้ก่อน สุดท้าย ถ้ากฎหมายนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมจะเป็นผลเสียต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน