กางข้อกฎหมาย ไขปม “นายกฯ 8 ปี” เปิดกรุทรัพย์สิน 6 รมต.ยุค คสช.ถึง “บิ๊กตู่”

กางข้อกฎหมาย ไขปม “นายกฯ 8 ปี” เปิดกรุทรัพย์สิน 6 รมต.ยุค คสช.ถึง “บิ๊กตู่”

กางข้อกฎหมาย ไขปม “บิ๊กตู่” เข้าข่ายนั่ง “นายกฯ 8 ปี” หรือไม่ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินยังไง – ย้อนความทรงจำดูสมบัติ 6 “เสนาบดี” ยุค คสช.มาเป็น “รัฐมนตรี” แบบไร้รอยต่อยุค “ประยุทธ์ 2”

เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกครั้งกับประเด็น “นายกฯ 8 ปี” ที่ถูกฝ่ายค้านขุดขึ้นมาเล่นงานรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยมีแผนเตรียมยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในช่วงเดือน ส.ค. 2565

เรื่องนี้ถูกถามถึง “นายกฯรักษาการ” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ที่รักษาการตำแหน่ง “เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า” แทน “บิ๊กตู่” ที่บินไปสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ โดย “บิ๊กป้อม” เปรยเรียบ ๆ ว่า ไม่กังวล ยอมรับว่าศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว

“เรื่อง 8 ปี ไม่มีปัญหา” พล.อ.ประวิตร ระบุ

ส่วนความชัดเจนในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า “รู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ยื่น” 

เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ยื่น”

ประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ คือจุดชี้ขาดในการดำรงตำแหน่งนายกฯได้อย่างไร    

เป็นเพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน 

ส่วนมาตรา 105 วรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน

นั่นหมายความว่า หากนายกฯ “ไม่ยื่น” บัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไปดำรงตำแหน่ง “นายกฯ” อีกสมัยภายใน 1 เดือน แต่ไม่ห้ามที่เจ้าตัวจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เรื่องนี้ “ครุฑกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยชี้แจงในศึกซักฟอกเมื่อต้นปี 2564 ไว้เช่นกัน คอนเฟิร์มว่าอย่างน้อย ตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ยื่น “บัญชีทรัพย์สิน” ต่อ ป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากเข้ารับตำแหน่งต่อเนื่องไว้แล้ว

วิษณุ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับอานิสงส์ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ว่า กฎหมายฉบับใหม่ กำหนดเอาไว้ว่า บุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน และมาดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 ปี ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ หลายคนอาศัยอานิสงส์ตรงนี้ ยอมรับว่าได้รับอานิสงส์ แต่เรียนว่ารัฐมนตรีหลายคน ไม่กล้าบอกว่าทั้งหมด แต่อย่างน้อยเท่าที่รู้คือนายกรัฐมนตรี และตนเองได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสมือนรับตำแหน่งใหม่ทุกประการ ตามแบบฟอร์มที่ ป.ป.ช. กำหนด ส่วน ป.ป.ช. จะประกาศหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ตนทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีก 30 กว่าคนที่เข้ามาช่วงเวลาเดียวกันทุกประการ

ขณะที่ “บิ๊กตู่” เคยชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งดังกล่าวเมื่อปี 2564 ว่า รู้ว่ากติกากฎหมายเป็นอย่างไร และได้แจ้งเพิ่มเติมไปแล้วเป็นครั้งที่ 2 แต่ขึ้นอยู่กับว่าสำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยเมื่อไร ขอให้ดูกฎหมายด้วย อย่าพาลมาให้แก้กฎหมายอีก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะทุกเรื่องก้าวล่วงไม่ได้อยู่แล้ว

ส่วน “บิ๊กป๊อก” ชี้แจงว่า เมื่อพูดก็ต้องพูดให้สังคมเข้าใจว่าบ้านเมืองเรามีคนบริหารบ้านเมืองที่อยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็น แม้ว่ากฎหมายให้ช่องไว้ว่าง หากดำรงตำแหน่งต่อภายใน 1 เดือนไม่ต้องทำรายงานบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามตนได้ทำรายงานส่งไปให้ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2562 ทันเวลาทุกอย่าง ส่วนเรื่องการปิดประกาศหรือไม่ เป็นส่วนของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ

นั่นหมายความว่า บรรดารัฐมนตรีอย่างน้อย 6 รายในยุครัฐบาล “คสช.” ที่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในรัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” มีอย่างน้อย 3 ราย ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้แก่ ป.ป.ช. “เพื่อเป็นหลักฐาน” คือ วิษณุ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ส่วนอีก 2 ราย คือ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ

การยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักฐานของ “บิ๊กตู่” โดยที่ ป.ป.ช. ไม่เปิดเผย จึงถูกฝ่ายค้านและนักวิชาการด้านกฎหมายบางส่วน มองว่า เป็นการ “กลับเข้ามารับตำแหน่งใหม่” คือการเข้ามาดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 นั่นหมายความว่าหากนับรวมเวลาตั้งแต่เป็นนายกฯเมื่อ ส.ค. 2557 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีในช่วงเดือน ส.ค. 2565

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันว่า เป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับ กล่าวคือ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯเมื่อปี 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว มีบทเฉพาะกาลในมาตรา 263 และ 264 เขียนครอบคลุมให้รัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ทำหน้าที่ต่อไปเพราะไม่มีฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันการเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกฯของ “บิ๊กตู่” ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป คาดว่าจะเข้าสู่การชี้ขาดต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเดือน ส.ค. 2565

มาทบทวนความทรงจำ “ทรัพย์สิน” ของบรรดานายกฯ- 5 รัฐมนตรี ที่กลับมารับตำแหน่งอย่าง “ไร้รอยต่อ” ระหว่างรัฐบาล คสช.-รัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” กันบ้าง

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท

เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท ได้แก่ เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,022 บาท, เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท, ที่ดิน 2 แปลง 2,284,750 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 4 รายการ 4,193,000 บาท

ส่วนนางนราพร จันทร์โอชา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท ได้แก่ เงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท, ที่ดิน 3 แปลง (1 แปลงร่วมกรรมสิทธิ์กับผู้อื่น) 5,350,000 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 1 รายการ 7,520,000 บาท

โดยที่เป็นประเด็นฮือฮากันคือ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่า พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา (บิดา) อายุ 89 ปี มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทในการขายที่ดิน (จากยอดการขาย 600 ล้านบาท) ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุตรชาย มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลเงินจำนวนนี้ ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องของผู้รับ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แบ่งเงินก้อนนี้ให้กับบุตรสาว 2 ราย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงพี่น้องรายอื่น ๆ (นายประคัลภ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ต.ประกายเพชร จันทร์โอชา)

สำหรับบริษัทรับซื้อที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ วงเงิน 600 ล้านบาท คือ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเจ้าของธุรกิจเครือ “ช้าง”

  • พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ครั้งแรกปี 2557 ระบุสถานะว่าโสด มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 87,373,757 บาท ไม่มีหนี้สิน ได้แก่ เงินฝาก 53,197,562.62 บาท เงินลงทุน 7,076,195.00 บาท ที่ดิน 17,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น

พล.อ.ประวิตร ถูกร้องเรียนเรื่องสวมใส่นาฬิกาหรูอย่างน้อย 21 เรือน ในช่วงดำรงตำแหน่ง โดย พล.อ.ประวิตร ชี้แจงต่อสังคมมาโดยตลอดว่าเป็นนาฬิกาที่ยืมจากเพื่อน จนนำไปสู่การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา กรณีร่ำรวยผิดปกติ และกรณีรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท

  • นายวิษณุ เครืองาม

แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 117,947,795 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,100,450 บาท

เป็นของ นายวิษณุ 78,975,643 บาท ได้แก่ เงินฝาก 36,931,529 บาท, เงินลงทุน 13,563,313 บาท, ที่ดิน 21,450,000 บาท, โรงเรือนฯ 7,030,800 บาท

ส่วนนางวัชราภรณ์ เครืองาม คู่สมรส มีทรัพย์สิน 38,972,152 บาท ได้แก่ เงินฝาก 15,305,802 บาท, เงินลงทุน 12,566,349 บาท, ที่ดิน 6.6 ล้านบาท, โรงเรือนฯ 1.5 ล้านบาท, ยานพาหนะ 3 ล้านบาท

  • พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ครั้งแรกเมื่อปี 2557 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 37,790,130 บาท ไม่มีหนี้สิน

เป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ 27,423,570 บาท ได้แก่ เงินฝาก 8,385,570 บาท, ที่ดิน 7,728,000 บาท, โรงเรือนฯ 5 ล้านบาท, ยานพาหนะ 3.6 ล้านบาท (รถโตโยต้า CELSIOR 8 แสนบาท ได้มา 15 ส.ค. 57-รถเบนซ์ S350 1.9 ล้านบาท ได้มา 22 ส.ค. 57), สิทธิและสัมปทาน 2,110,000 บาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 6 แสนบาท

ส่วนนางกุลยา เผ่าจินดา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 10,366,560 บาท ได้แก่ เงินฝาก 1,066,560 บาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 9.3 ล้านบาท

  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย

แจ้งบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. สมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) อย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ช่วงพ้นตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ช่วงพ้นตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศครบ 1 ปี ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ 

โดยครั้งหลังสุดแจ้งเมื่อปี 2559 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสประมาณ 138 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน

นายดอน เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่าอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี กรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย คู่สมรส ถือครองหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด เกิน 5% และมีการโอนหุ้นเกิน 30 วัน ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างไรก็ดีนายดอน ได้ชี้แจงยืนยันว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าวให้บุตรชายไปแล้วภายในกำหนด แต่ขั้นตอนทางธุรการล่าช้า ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า นายดอน ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี

  • พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล

แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม เมื่อปี 2560 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 28,673,379 บาท มีหนี้สิน 2,001,231 บาท

เป็นของ พล.อ.ชัยชาญ 17,768,309 บาท ส่วนนางวิภาพร ช้างมงคล คู่สมรส มีทรัพย์สิน 10,596,694 บาท โดยทรัพย์สินที่น่าสนใจ ได้แก่ พระบูชา 27 องค์ , พระเครื่อง/ของขลัง พร้อมสร้อยทอง 23 องค์/2 เส้น ,ทองคำแท่งหนักรวม 75 บาท (9 แท่ง) ,ทองรูปพรรณ หนัก รวม 20.5 บาท ( 21 ชิ้น), เครื่องประดับเพชรพลอยรวม 43 ชิ้น อาวุธปืนสั้น 1 กระบอก (รวมทองคำประมาณ 95 บาท)