“สุรพล นิติไกรพจน์”ชี้8ปีรัฐประหาร-องค์กรอิสระเอื้อผู้มีอำนาจรัฐ

“สุรพล นิติไกรพจน์”ชี้8ปีรัฐประหาร-องค์กรอิสระเอื้อผู้มีอำนาจรัฐ

“สุรพล นิติไกรพจน์”ชี้8ปีรัฐประหาร-องค์กรอิสระเอื้อผู้มีอำนาจรัฐ พบตีความกฎหมายหลายมาตรฐาน การทุจริตเพิ่มขึ้นมากกว่ายุคนักการเมือง เชื่อประชาชนอึดอัด มองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-เลือกตั้งทั่วไปอีก 1 ปี ผู้มีอำนาจกำหนดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และประธานกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตธรรมศาสตร์ อนาคตสังคมไทย’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์

ศ.ดร.สุรพล กล่าวตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารปี 2557 มองในแง่สิ่งที่เกินขึ้นแล้ว ตนคิดว่าทุกที่ที่มีการรัฐประหาร ระบบการเมืองการปกครองมีความจำเป็นที่ต้องป้องกันตัวเอง คสช.ซึ่งเป็นผู้กระทำรัฐประหาร ใช้อาวุธเพื่อให้ได้อำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้อาวุธต่อไป เพื่อจะปกป้องระบบการเมืองการปกครองหลังจากนั้นมีเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสำหรับผู้ปกครอง 

“คำถามของสังคมไทยคือระยะเวลาที่สมควรรับได้ยาวนานเพียงใด ตอนนี้เราผ่านมา 8 ปีกว่า หลายคนคาดหวังว่าการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำบ้านเมืองเข้าสู่ปกติ แต่กลับมีระบบการปกครองที่ทำให้คนจำนวนมากอึดอัด การใช้อำนาจที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น”
 

ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า เราเห็นการบังคับใช้กฎหมาย อาจจะไม่ใช่สองมาตรฐาน แต่มีหลายมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับจะบังคับใช้กับใคร เราเห็นการทุจริตไม่แตกต่างไปจากการทุจริตของนักการเมือง เรามีการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการจะจัดการพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล แต่ระบบมีข้อบกพร่อง ไม่สามารถจัดการได้ ก็ต้องออกแบบระบบใหม่ แต่ตนเชื่อว่าก็จัดการไม่ได้เหมือนเดิม

“การทุจริตซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหารยังคงมีอยู่ เรามีองค์กรตรวจสอบ จับนักการเมืองทุจริต ปัจจุบันเรามีกลไกเช่นนั้นสำหรับนักการเมือง หรือผู้มีความเห็นตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น เราเห็นองค์กรอิสระที่ตีความรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมาย แตกต่างไปจากสามัญสำนึกของคนปกติ ที่แม้ไม่ได้เรียนกฎหมาย”

ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า วันนี้เราเห็นอะไรบางอย่างท่ามกลางความแตกแยกทางความคิด มีคนรุ่นใหม่เรียกร้องอะไรมากมาย ซึ่งมีคนจำนวนมากยอมรับว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาโรคระบาด ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่คนคาดหวังเอาไว้ แต่เราก็เห็นว่ามีความพยายามให้ระยะเวลา 10 ปี กลายเป็น 12 ปี 13 ปี หรือ 15 ปี

“เราเห็นการออกแบบระบบการเลือกตั้ง ที่อธิบายกันโดยใช้เวลา  1 ปี ให้คนเข้าใจระบบจัดสรรปันส่วนแบบผสม สอดคล้องกับสังคมไทย สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย เราเพิ่งใช้ระบบนั้นไปครั้งเดียว รัฐสภาก็ลงมติให้กลับสู่ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ซึ่งที่จริงไม่มีคำอธิบายอื่น เพราะระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งใจจะจัดการกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล แต่ระบบมีข้อบกพร่องจัดการไม่ได้ ก็ต้องออกแบบระบบใหม่ เพื่อจัดการให้ได้ แต่ในฐานะนักกฎหมายมหาชน ผมเรียนเลยว่าก็จัดการไม่ได้เหมือนเดิม”

ศ.ดร.สุรพล กล่าวตอ่ว่า ประชาชนจำนวนมากรู้สึกถึงความไร้ประสิทธิภาพ ถึงระยะเวลายาวนานเกินสมควร ของการใช้อำนาจที่ไม่อาจตรวจสอบได้ นี่จึงเป็นปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยในเวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งรุ่นของตน ก็เข้าใจสิ่งเหล่านี้ อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เรารู้ผลการเลือกตั้งอยู่แล้ว ชอบหรือไม่ก็ตาม เรารู้ผลการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 1 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมีความพยายามอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดเพิ่มขึ้น เข้าสู่สิทธิการเลือกตั้งมากขึ้น แต่ยังมีคนรุ่นเก่าที่เริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างชัดขึ้น เข้าใจบางสิ่งบางอย่างชัดขึ้น

“ผมเชื่อว่าเป็นอนาคตที่สมาชิกของสังคมรุ่นต่อไป ที่จะอยู่ไปอีกนานกว่าพวกเราจะเป็นคนกำหนดและตัดสิน ผมไม่เชื่อว่าแนวทางที่เป็นอยู่ในหมู่ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จะเป็นไปในทิศทางที่จะส่งผ่านเป็นไปอย่างสันติ ผมออกจะไม่ค่อยสบายที่จะเรียนว่าผมยังไม่พบว่าเราจะมีการเปลี่ยนผ่านแบบปกติหรือสันติ ผมยังมีความหวังส่วนตัวเรามีผู้คนชาวธรรมศาสตร์จำนวนมา อยู่ในทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ผมหวังว่าคนธรรมศาสตร์จะเห็นใจและเข้าใจความทุกข์ยากเดือดร้อน ทำให้ความรุนแรงความขัดแย้งมีความเบาบางลง”