“ก้าวหน้า” ชูไอเดีย “ธนาธร” ยกเลิก “นอภ.-กำนัน-ผญบ.” ยุติรัฐรวมศูนย์

“ก้าวหน้า” ชูไอเดีย “ธนาธร” ยกเลิก “นอภ.-กำนัน-ผญบ.” ยุติรัฐรวมศูนย์

“คณะก้าวหน้า” แพร่บทสัมภาษณ์ “ธนาธร” ชูไอเดียยกเลิก “นายอำเภอ-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” เหตุมี “เทศบาล-อบต.” อยู่แล้ว ชี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด ไม่ใช่เครื่องการันตีเลิก “รัฐรวมศูนย์” รณรงค์แก้ รธน.หมวด 14 ปลดล็อกท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 คณะก้าวหน้า เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในประเด็น “ปลดล็อกท้องถิ่น” และยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ จาก The Isaan Record ร่วมกับดาวดินทอล์ก X ขบวนการอีสานใหม่ จัดไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก มีรายละเอียด ดังนี้

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่เครื่องการรันตีว่า “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” จะหมดไป เพราะตราบใดที่ผู้ว่าฯ นั้นยังอยู่ในสังกัดและถูกสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นรัฐราชการส่วนกลาง “อำนาจ” ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในท้องถิ่นก็จะยังคงเป็น “จากบนลงมาล่าง” อยู่ดี

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรามีการ “เลือกตั้ง” ผู้บริหารในระดับจังหวัดมานานแล้ว นั่นก็คือตำแหน่ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือ “นายก อบจ.”

แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เสมือนกับว่ามีผู้บริหารที่อยู่ในระนาบเดียวกันนี้ 2 รูปแบบ คือ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง กับ 2.นายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ทว่า ที่เลวร้ายและผิดหลักการกระจายอำนาจ ผิดหลักการปกครองตนเองเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดันใหญ่กว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

นี่คือสิ่งที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บอกว่า “รัฐส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชน” และ “เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระเบิดศักยภาพของคน แต่ใช้สำหรับปกครองและควบคุมคน”

ดังนั้น เมื่อกลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็น กับสิ่งที่เรียกว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์” จึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เป็นการยกเลิกผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นระบบราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นแขนขาของรัฐราชการส่วนกลาง แล้วนำ “อำนาจ” นั้นไปให้กับนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้มีอำนาจในการออกแบบนโยบาย จัดเก็บภาษี จัดการทรัพยากรในจังหวัดของตนเองได้

ขณะที่ระดับเมืองก็ยกเลิกตำแหน่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะมีนายกเทศมนตรีที่บริหารในระดับเทศบาล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. ทำหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องไปเพิ่มอำนาจ งบประมาณ และบุคคลากรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ให้ผู้บริหารแต่ละเทศบาล ให้แต่ละ อบต.สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง

และนี่คือสิ่งที่ “คณะก้าวหน้า” กำลังร่วมรณรงค์ เชิญชวนเข้าชื่อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น