"บ.ส้มจี๊ด-ก้าวไกล" จัดประกวด B.A.D Beer Contest หวังดันกม.สุราฯใน-นอกสภา

"บ.ส้มจี๊ด-ก้าวไกล"  จัดประกวด B.A.D Beer Contest หวังดันกม.สุราฯใน-นอกสภา

บ.ส้มจี๊ดผนึกก้าวไกล จัดประกวด B.A.D Beer Contest ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 1 "เท่าพิภพ" หวังดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คู่ขนานใน-นอกสภา

ที่ชั้น 7 อาคารอนาคตใหม่ บริษัทส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ร่วมกับ พรรคก้าวไกล แถลงข่าว เปิดตัวโครงการประกวดเบียร์ชิงแชมป์ประเทศไทย หรือ B.A.D Beer Contest เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อย สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเบียร์ และเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ที่จะมีการโหวตรับหรือไม่รับหลักการในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดในวันที่ 22 พ.ค. 65 

โดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดการประกวดเบียร์ครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการผ่านร่างกฎหมาย การผลักดันในสภาอย่างเดียวอาจเป็นเรื่องยาก จึงควรขับเคลื่อนนอกสภาด้วย

ต้องยอมรับความจริงว่า ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเบียร์มากมาย ทั้งต้มกินเองที่บ้านหรือมีเป้าหมายเพื่อการค้า การจัดประกวดจะช่วยยกระดับเรื่องเรื่ององค์ความรู้ และหากสามารถปลดล็อกการผลิตเหล้าเบียร์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่สามารถนำผลิตภัณฑ์การการเกษตรมาแปรูปได้ รวมถึงเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง เพราะการนำมาเก็บในขวดมีแต่มูลค่าที่มากขึ้น ไม่ใช่ต้องเอามาเททิ้งประท้วงกันอย่างในปัจจุบัน

“B.A.D ย่อมาจาก Break All Deadlocks เราอยากปลดล็อกทุกอย่าง คนไม่เห็นด้วยมักพูดว่า เบียร์ไทยมันเลว เบียร์ไทยมันพัฒนาไม่ได้ มันจริงไหม ก็ต้องมาพิสูจน์กัน จึงเป็นที่มาของการที่ ก้าวไกลและบริษัทส้มจี๊ด เริ่มจัดการประกวดเบียร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

นายเท่าพิภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วงการเบียร์ปัจจุบันไปไกลกว่าที่สมัยตนเริ่มต้มเบียร์ใหม่ๆมาก กินเบียร์แล้วเหมือนกินแยมก็มี ซึ่งหนึ่งในการประกวดรอบย่อยจะมีการประกวด Fruit Beers ที่มีวัตถุดิบจากผลไม้ด้วย ผลจะออกมาเป็นอย่างไรจึงน่าสนใจมาก เมื่อก่อนทุกฤดูผลไม้จะเห็นภาพเกษตรกรเอาผลไม้ไปเททิ้ง ตนเชื่อว่าการประกวดนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นำวัตถุดิบไปแปรรูปมากขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกา หรืออย่างวงการเบียร์เยอรมัน จะมีเบียร์ของแคว้นต่างๆ เป็นลักษณะที่คล้ายกับไทยที่มีเหล้าภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน แตกต่างกันไป การประกวดเบียร์อาจเป็นจุดเริ่มต้น ต่อไปอาจมี B.A.D.สาโท ,B.A.D สุราท้องถิ่น และหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถจัดหมวดหมู่เครื่องดื่มอย่างสาโทให้มีไกด์ไลน์ของไทยในการผลิตในอนาคตได้ 

ด้านนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ กรรมการบริษัทส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยคณะก้าวหน้า กล่าวว่า อยากให้การประกวดครั้งนี้เป็นพื้นที่ปล่อยพลัง เพิ่มโอกาสผู้ผลิตเบียร์รายย่อยสามารถผลิตได้ตามกฎหมาย และอยากให้สังคมได้มองเห็นศักยภาพของผู้ลิตรายย่อยว่ามีความสามารถและสร้างสรรค์ในการผลิตเบียร์ออกสู่ตลาดได้จริง ไม่ใช่ต้องกินเฉพาะเบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจของผู้ผลิตรายย่อยคือการที่พวกเขาสามารถนำวัตถุดิบท้องถิ่นใส่ไปเพื่อดึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ออกมาได้
 

สำหรับรูปแบบการแข่งจะเป็นแบบ ‘กรังด์ปรีซ์’ คล้ายการแข่งคล้าย F1 แบ่งการแข่งทั้งหมดเป็น 5 รอบ  ตามชนิดเบียร์ 5 ประเภท แล้วนำคะแนนมารวมกันเพื่อหาผู้ชนะ แข่งครั้งแรก วันที่ 28 พ.ค. 65 ชนิด IPA, ครั้งที่ 2 วันที่ 23 ก.ค. 65 แข่งเบียร์ชนิด Stout ,ครั้งที่ 3 วันที่ 27 ส.ค. 65 แข่ง German Wheat Beer, ครั้งที่ 4 วันที่ 22 ตค. 65 Fruit Beers  และครั้งสุดท้าย วันที่ 10 ธ.ค. 65 
.
“เมื่อรวมคะแนนจาก 5 รอบ ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นการสนับสนุนให้ผลิตเบียร์ได้ในสเกลอุตสาหกรรมคือ 5,000 ลิตร เพื่อบรรจุขวดและกระจายขายทั่วไปได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้รับการสนับสนับจากสถาบันอุดมคติให้ได้เรียนในหลักสูตรที่แอดวานซ์สำหรับการต้มเบียร์ ส่วนผู้ชนะในแต่ละรอบย่อย 5 สนาม จะได้ต้มเบียร์ในสเกล 60 ลิตร เพื่อทดลองว่าจะสามารถทำสเกลใหญ่เพื่อพัฒนาต่อไปได้หรือไม่” 
.
นิติพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สมัครมาแล้ว 44 คน แบ่งเป็น 21 ทีม จาก 14 จังหวัด ที่จะส่งเบียร์เข้าประกวดครบทั้ง 5 ประเภท ที่เหลือจะเป็นการส่งประกวดเฉพาะบางสไตล์ที่ถนัดและอยากทำให้ดีที่สุดในชนิดที่ตนสนใจ เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจเข้าร่วมอีกมาก แต่ตอนนี้การประกวดชนิด IPA สมัครเข้ามาเต็มแล้ว เนื่องจากกรรมการที่ตัดสินเบียร์ได้ยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากผู้สมัครก็มีความน่าสนใจ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี มีประสบการณ์ต้มเบียร์เฉลี่ย 3.8 ปี และเกือบทั้งหมดไม่เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมประกวดแนวนี้ 
.
“ในอนาคต เราหวังว่าจะรับผู้สมัครได้มากขึ้น ตอนนี้เรามีข้อจำกัดเรื่องจำนวนกรรมการ ต่อไปถ้าวงการเบียร์เปิดกว้าง มีการประกวดเบียร์มากขึ้น ก็อาจมีคนไปต่อยอดไปสอบเป็นกรรมการตัดสินมากขึ้น ก็จะทำให้สามารถขยายได้เหมือนในต่างประเทศที่เวลามีการประกวดสามารถรับได้เป็นร้อยทีม เราอยากสร้างพื้นที่เพื่อทลายความไม่ยุติธรรมที่คอยกดผู้ผลิตรายย่อย เพราะถ้าทำได้ เราเชื่อว่ารายได้จะลงสู่ชุมชนและท้องถิ่นได้มากขึ้น”

ในเรื่องหลักเกณฑ์การตัดสิน เท่าพิภพ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า  การแข่งขันนี้ใช้มาตรฐานการประกวดเบียร์ของอเมริกา ซึ่งในไทยก็มีกรรมการที่สอบผ่านการเป็นผู้ตัดสินจำนวนหนึ่งรวมถึงตนด้วย การชิมเบียร์ว่าอร่อยหรือไม่อาจขึ้นกับรสนิยมความชอบ แต่การประกวดจะมีมาตรฐานกลางของเบียร์แต่ละประเภท จะดูจากคุณสมบัติ เช่น สีเบียร์ ถ้าประกวดเบียร์ดำ สีก็ต้องไม่เหลือง โฟมเป็นอย่างไร กลิ่นตรงหรือไม่ รวมถึงรสสัมผัส คะแนนรวม คือ 50 คะแนน การตัดสินจะเน้นความตรงสไตล์มากที่สุดตามมาตรฐานการตัดสินเบียร์ การแพ้ชนะอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในการประกวด แต่มุ่งเน้นเรื่องการช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ เพราะผู้ประกวดทุกคนจะได้รับการแนะนำหรือการเป็นที่ปรึกษาเพื่อนำกลับไปเพื่อพัฒนาเบียร์ของตนเอง ซึ่งวงการเบียร์ของอเมริกาที่เติบโตขึ้นก็มาจากแนวทางลักษณะนี้ 

นอกจากนี้ เท่าพิภพ ยังฝากว่า ขณะที่ตนได้ทำแคมเปญ #ริ้บบิ้นส้มล้มผูกขาด จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกร้าน หรือผู้สนใจช่วยกันแจกริบบิ้นสีส้มให้ลูกค้าและติดลูกค้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ต้องการให้ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านสภา แคมเปญนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นพลังของเราทุกคนในการต่อต้านการดำรงอยู่ของกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาดและกีดกันการแข่งขันทางการค้า